ให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกักตัว หวั่นไม่ทำใน 2-3 สัปดาห์ได้เห็นด้านมืด

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกักตัว หวั่นไม่ทำใน 2-3 สัปดาห์ได้เห็นด้านมืด

Date Time: 4 ก.พ. 2564 08:39 น.

Summary

  • เสนอรัฐบาลทบทวนมาตรการกักตัวนักท่องเที่ยวในประเทศของ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ทำให้คนไทยไปเที่ยวไหนไม่ได้ แม้แต่จะไปประชุมธุรกิจในประเทศ

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

เสนอรัฐบาลทบทวนมาตรการกักตัวนักท่องเที่ยวในประเทศของ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ทำให้คนไทยไปเที่ยวไหนไม่ได้ แม้แต่จะไปประชุมธุรกิจในประเทศ เพราะต้องถูกกักตัวทั้งขาไป และขากลับเกือบทุกจังหวัด ไม่ใช่แค่จังหวัดที่เสี่ยงสูงอย่างเดียว ชี้ 2–3 สัปดาห์ต้องยุติมาตรการนี้ ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยพังพาบ ด้าน “หมอเสริฐ” เตรียมวัคซีนตัวที่ตายแล้วฉีดให้พนักงานในเครือ 30,000 คน

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากบรรดานักธุรกิจว่า ผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง ทำให้รายได้ที่เริ่มจะโงหัวขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค.63 มา กลับดิ่งลงจนหมดโอกาสจะอยู่รอด เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างของรัฐบาล ทำให้มีปัญหาตามมามากมาย และหากภายใน 2-3 สัปดาห์ ต่อจากนี้ หากรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบเป็นประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ไม่แก้ไข หรือคลายกฎกติกาที่ออกมาบ้าง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ไม่มากก็น้อย ผลกระทบจากมาตรการรัฐดังกล่าวอาจสร้างความสูญเสียในระยะยาวที่ยากจะกลับคืนมาของระบบเศรษฐกิจไทยได้

บรรดาผู้ค้าในร้านค้าเชิงพาณิชย์ของสนามบินดอนเมือง ซึ่งใช้เป็นสนามบินภายในประเทศ ยังร้องเรียนด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 นั้น มีผู้โดยสารเริ่มเข้าไปใช้สนามบินจำนวนมากเฉลี่ยประมาณเกือบ 100,000 คน/วัน นับจากเดือน พ.ย.63 เป็นต้นมา แต่หลังจากเดือน ม.ค.64 ผู้โดยสารกลับหายหน้าหายตาไปหมด เพราะมาตรการกักตัว ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข น่าจะทบทวนมาตรการบังคับ การกักตัวของผู้โดยสารในประเทศใหม่ เพราะถ้าไม่มีคนในประเทศเดินทางอีก ก็ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการทั้งหลายมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่การไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องนี้ไปยังสายการบินในประเทศสองสามสาย ได้รับคำตอบเช่นเดียวกันว่าพวกเขาได้แจ้งรัฐบาลและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ไปแล้วว่า จำเป็น ต้องลดเที่ยวบินลง บางแห่งลดลงไปเกือบไม่เหลือเที่ยวบิน ขณะที่ด้าน นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มโรงพยาบาลในเครือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอให้รัฐบาล โดยเฉพาะ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนมาตรการกักตัวผู้โดยสารในประเทศที่ประสงค์จะเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไกลๆและเป็นแหล่งสำคัญของการท่องเที่ยวในประเทศ

“ผมเห็นด้วยว่า ถ้านักท่องเที่ยวไทย สมมติไปจากกรุงเทพฯต้องถูกกักตัวเมื่อไปถึงภูเก็ต 14 วัน และกลับมาถูกกักตัวอีก 14 วัน รวมเป็น 28 วัน ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะมีใครไป หรือยกครอบครัวไปเที่ยวในยามนี้ หรือแม้แต่จะไปดูงาน ไปประชุมเพียงวันเดียว หรือคืนเดียวกลับ ก็เป็นเรื่องลำบากที่จะเดินทางไป เพราะมาตรการถูกกักตัวนั่นเอง”

ผู้สื่อข่าวถามว่า สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส หรือ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ซึ่งเป็นกิจการในเครือเหมือนกัน ได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ นพ.ปราเสริฐกล่าวว่า ปกติเคยบินวันละ 10 เที่ยว ปัจจุบันลดลงเหลือ 1 เที่ยว เพราะไม่มีผู้โดยสารเลย บางวันมีผู้โดยสารเพียง 3-4 คน บริษัทก็จำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบิน เพราะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายจริงๆ “คุณไปดูสมุยซิ ไม่มีคนเลย คนในประเทศเดินทางไปเที่ยวไม่ได้ โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งบริการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกันก็มีอันต้องปิดตัวและหยุดชะงักหมดผมเห็นด้วยว่า ศบค.ต้องรีบตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะถ้าปล่อยให้ผู้ประกอบการตาย หรือกิจการเจ๊ง ต้องปิดตัว ต้องมีคนตกงานตามมาอีกมาก ส่วนธุรกิจถ้าถึงขั้นเจ๊งหรือปิดกิจการกัน รัฐบาลต้องพิจารณาให้ดีว่า กว่าจะให้พวกเขากลับมาฟื้นกิจการได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย”

นพ.ปราเสริฐ กล่าวด้วยว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐที่มุ่งไปสู่บุคคลทั่วไปอย่างเดียว ก็อาจจำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่าถ้าให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยผู้ประกอบการไม่ให้ปลด หรือเลิกจ้างพนักงานก็น่าจะเป็นการช่วยเหลือโดยตรงเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด เพราะพนักงานก็จะอยู่รอดไปด้วย” เรายังโชคดีที่เก็บสะสมเงินไว้พอสมควร แต่ถ้าธุรกิจแอร์ไลน์ ในประเทศไปต่อไม่ได้ การท่องเที่ยวในประเทศซึ่งเป็นความหวังเดียวก็คงไปไม่รอดแน่ รัฐบาลคงต้องคิดให้รอบคอบว่าจะเอาชนะอะไร ถ้าเศรษฐกิจไม่รอด คนไทยก็ไม่รอด”

ผู้สื่อข่าวถามถึงอุตสาหกรรมยาในเครือกลุ่มบมจ.ดุสิตเวชการ ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครืออยู่ 50 แห่งว่า ได้ผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ด้วยหรือไม่ นพ.ปราเสริฐ กล่าวว่าไม่ได้ผลิต หรือทดลองผลิตวัคซีนตัวนี้ แต่ร่วมมือกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาที่รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อค้นคว้าวิจัยยา มีความชำนาญด้านยาน้ำ และยาเม็ด “สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทยาที่ดีมาก ในหลวง ร.9 พระราชทานเงินส่วนพระองค์เพื่อสร้างอาคาร และอุปกรณ์การผลิตยาขึ้น 2,000 ล้านบาท และบริษัทนี้ก็ร่วมกับอังกฤษผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19” นพ.ปราเสริฐ กล่าวว่า อยากให้คนไทยเข้าใจว่า วัคซีนที่ผลิตกันอยู่ทุกวันนี้ มีทั้งที่ตายแล้ว และที่ยังไม่ตาย

“เอาที่ชัวร์คือ เอาตัวที่ตายแล้วมาทำวัคซีนดีกว่า เพราะต้องใช้เวลา 1 ปี เจ้าไวรัสตัวนี้จึงจะตาย ทำให้แน่ใจมากกว่าว่าผู้ได้รับวัคซีนจะปลอดภัย สำหรับผม ผมคิดว่า เอาให้ชัวร์ดีกว่า และผมเตรียมวัคซีนไว้ให้พนักงานในกลุ่มบริษัททั้งหมด 30,000 คนไว้ฉีดให้เรียบร้อยแล้ว ตามกำหนดระยะเวลาที่รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขประกาศจะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงในกลางเดือนนี้ ส่วนวัคซีนที่ผมซื้อมา ราคาโด๊สละ 2,000 บาท ต่ำกว่านี้ไม่น่าจะปลอดภัย และต้องฉีดให้พนักงานรายละ 2 โด๊สด้วยกัน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ