นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปี 63 ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 5.72 ล้านตัน ลดลง 24.54% จากปี 62 ที่ส่งออกได้ 7.58 ล้านตัน โดยมีมูลค่า 3,727 เหรียญสหรัฐฯ ลดลง 11.41% ส่งผลให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวปริมาณมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองจากอันดับ 1 อินเดีย 14 ล้านตัน ตามด้วยเวียดนาม 6.3 ล้านตัน ส่วนอันดับ 4 ปากีสถาน 4 ล้านตัน และอันดับ 5 สหรัฐฯ 3.05 ล้านตัน ส่วนตลาดส่งออกหลักของไทย อับดับ 1 แอฟริกาใต้ 672,777 ตัน สัดส่วน 11.75% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย ตามด้วยสหรัฐฯ 672,183 ตัน สัดส่วน 11.74%, เบนิน 476,290 ตัน สัดส่วน 8.32%, จีน 381,363 สัดส่วน 6.66% และอังโกลา 347,292 สัดส่วน 6.07%
“สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในปี 63 ลดลง มาจากค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง, จีนซึ่งเดิมเป็นประเทศผู้นำเข้ากลายมาเป็นผู้ส่งออก และส่งออกไปแย่งตลาดไทยในแอฟริกา, ข้าวไทยไม่มีพันธุ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดเท่าที่ควร โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่ม และช่วงปลายปีขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งข้าว”
ส่วนปี 64 หลังจากกรมได้หารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยแล้ว เห็นชอบร่วมกันกำหนดเป้าหมายส่งออกข้าวที่ 6 ล้านตัน ซึ่งเป็นเป้าหมายท้าทาย เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ เช่น อินเดีย และเวียดนาม, ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และผู้นำเข้าหลายประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อลดลง สำหรับกิจกรรมต่างๆที่จะใช้สนับสนุนการขยายตลาดข้าว มีทั้งเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 63-67 เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาด, เร่งปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการส่งออกข้าว และเร่งประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักและต้องการเพิ่มขึ้น
“ในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยจะปรับรูปแบบจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์มากขึ้น เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและหากลุ่มลูกค้าใหม่ โดยมีกิจกรรม เช่น สร้างความเชื่อมั่นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับคู่ค้าสำคัญ อย่างฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อิรัก บังกลาเทศ เป็นต้น และหารือกับประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่น เวียดนาม แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การผลิตและตลาดข้าว รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยเผยแพร่ผ่านออนไลน์ เป็นต้น”.