พาณิชย์เกษตรชงแม็คโคร-ช่วยกุ้ง! กรมประมงการันตีไม่ต้องกังวลโควิด!

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พาณิชย์เกษตรชงแม็คโคร-ช่วยกุ้ง! กรมประมงการันตีไม่ต้องกังวลโควิด!

Date Time: 31 ธ.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • เกษตรฯ-พาณิชย์ ผนึกกำลัง “แม็คโคร” รับซื้อกุ้งกระจายทุกสาขาขายช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมงสู้โควิด สร้างความเชื่อมั่นสินค้าสัตว์น้ำไทย

Latest

รอบรั้วการตลาด: Rojukiss เปิดตัว CEO คนใหม่ ตั้งเป้าขยายตลาดต่างประเทศ 20%

เกษตรฯ-พาณิชย์ ผนึกกำลัง “แม็คโคร” รับซื้อกุ้งกระจายทุกสาขาขายช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมงสู้โควิด สร้างความเชื่อมั่นสินค้าสัตว์น้ำไทย กรมประมงมอบหนังสือการันตีรับรอง “แม็คโคร” ปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจโควิด-19 ตอกย้ำความมั่นใจปลอดภัยไร้กังวล

โควิดพ่นพิษรอบสองจากแหล่งใหญ่แพร่เชื้อแพกุ้งใน จ.สมุทรสาครส่งผลกระทบให้ประชาชนหวาดหวั่นไม่ซื้ออาหารทะเลบริโภค รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโดยเฉพาะกุ้งขายไม่ออก โดยเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันเป็นประธานเปิดโครงการ “ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2563/64” โดยมีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ผู้บริหารหน่วยงาน

ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขานครอินทร์ จ.นนทบุรี โดยภายในงานได้มีพิธีส่งมอบกุ้งระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด ตลอดจนโชว์จุดจำหน่ายกุ้งจากเกษตรกรภายในแผนกอาหารทะเลของแม็คโคร พร้อมเปิดบูธผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่นำกุ้งมารังสรรค์เป็นเมนูพิเศษ

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะความกังวลของประชาชนในการบริโภคสัตว์น้ำ ส่งผลให้เกษตรกรชาวประมงโดยเฉพาะกุ้ง ได้รับผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมตลอดห่วงโซ่การผลิต จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรทั้งระบบในสินค้าประมงและสินค้าปศุสัตว์ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัย และได้มาตรฐานต่อผู้บริโภคให้มากที่สุด

งานในวันนี้มีการมอบหนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 สำหรับ Modern Trade ของกรมประมงให้กับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขานครอินทร์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์

ฉุกเฉิน กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายชัดเจนในการเปิดตลาดท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ โดยให้ประมงจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด ประสานงานร่วมกันเปิดช่องทางการตลาด กระจายสินค้าสัตว์น้ำ ตลอดจนมุ่งมั่นสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเชื่อมั่นในสินค้าสัตว์น้ำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวประมง ขอย้ำว่าสัตว์น้ำไทยโดยเฉพาะกุ้งทะเลสามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโควิด อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งก่อนนำมาบริโภคขอให้ล้างน้ำให้สะอาด และปรุงให้สุกอยู่เสมอ

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สำหรับการออกข้อกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยมาตรการเฉพาะกิจดังกล่าวมีผลบังคับใช้กลุ่มผู้ประกอบการกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง 5 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการกระบวนการผลิต ประกอบด้วย ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง เรือประมง 2.ผู้ประกอบการกระบวนการลำเลียงและขนส่งสัตว์น้ำ 3.ผู้ประกอบการสะพานปลา 4.ผู้ประกอบการร้านค้า Modern trade และ 5.ผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก โดยผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการทั่วไปที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข และมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจที่กรมประมงกำหนด จะได้รับหนังสือรับรองการปฏิบัติที่ดีในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จากกรมประมง

สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรกที่ยื่นความประสงค์ขอเข้ารับการตรวจประเมินจากกรมประมงได้จัดส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจประเมินไปเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 ผลตรวจพบว่าบริษัทมีมาตรการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในสถานที่วางจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำได้อย่างเหมาะสม อาทิ ควบคุมแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ชัดเจน โดยผู้ขายส่งส่วนใหญ่มาจากฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง และสุ่มตรวจเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในสัตว์น้ำจากผู้ขายส่ง ควบคุมการปนเปื้อนจากพาหนะขนส่ง จัดการวางจำหน่ายสินค้าแยกตามชนิด การล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อบริเวณพื้นที่จำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์ มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนจากผู้บริโภคที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ประสงค์ขอรับการตรวจประเมินสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่กรมประมงโทร.0-2562-0600 หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ทั่วประเทศ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ