นับถอยหลัง..ยานยนต์ไร้คนขับ...บุกถนนเมืองไทย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

นับถอยหลัง..ยานยนต์ไร้คนขับ...บุกถนนเมืองไทย

Date Time: 5 ธ.ค. 2563 05:05 น.

Summary

  • ถ้าไม่นับรวมรถบินได้ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่สะท้อนถึงยานยนต์แห่งอนาคต เชื่อว่าวันนี้ “ยานยนต์ไร้คนขับ” หรือ Autonomous car ที่ปัจจุบันมีหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกพยายามพัฒนาขึ้น

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

ถ้าไม่นับรวมรถบินได้ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่สะท้อนถึงยานยนต์แห่งอนาคต เชื่อว่าวันนี้ “ยานยนต์ไร้คนขับ” หรือ Autonomous car ที่ปัจจุบันมีหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกพยายามพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เทสลา, กูเกิล, ฟอร์ด แต่ที่น่าจับตามองเห็นจะเป็น 2 ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างเทสลา และกูเกิล ที่เริ่มมีการผลิตยานยนต์ไร้คนขับออกมาใช้บ้างแล้ว นับหมื่นคันทั่วโลก

เทสลา นั้นเริ่มจากการพัฒนาระบบจอดรถอัตโนมัติไปจนถึง ระบบออโตไพลอต (Auto Pilot) ซึ่งทำงานด้วยกล้องและเรดาร์ แต่ที่เหนือชั้นเห็นจะเป็น ยานยนต์ไร้คนขับของกูเกิล (Google Self-Driving Car) ซึ่งปัจจุบันทำการทดลองขับมาแล้วมากกว่า 1.5 ล้านไมล์ หรือมากกว่าระยะทางจากโลกไปดาวพุธเลยทีเดียว โดยกูเกิลได้เปิดตัวยานยนต์ไร้คนขับที่ชื่อว่า Way Mo มาระยะหนึ่งและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยประเทศในเอเชียประเทศแรกที่มีการใช้ยานยนต์ไร้คนขับแล้ว คือ สิงคโปร์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้ใช้รถยนต์ไร้คนขับแล่นบนถนนแล้วในบางพื้นที่ จำกัดความเร็วไว้ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องมีผู้ขับขี่สำรองอยู่ในตัวรถด้วยเสมอ

เคพีเอ็มจี บริษัทให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก เปิดเผยรายงานการจัดอันดับประเทศที่เตรียมพร้อมเรื่องยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติไว้ เมื่อปี 2019 ระบุว่า สิงคโปร์ เป็นชาติที่มีความพร้อมกับยานยนต์ไร้คนขับเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเนเธอร์แลนด์ จากการสำรวจทั้งหมด 25 ประเทศทั่วโลก โดยดัชนีวัดผลมาจาก 4 องค์ประกอบ คือนโยบายของรัฐบาล แนวคิดที่คำนึงถึงการนำยานยนต์ไร้คนขับมาใช้งานในกิจการใดบ้าง โครงสร้างพื้นฐานและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในประเทศโดยรวม

และที่ก้าวหน้าไปกว่านั้น สิงคโปร์ยังสนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางจัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ เพื่อพัฒนาและทดสอบการใช้งานของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง รวมทั้งรองรับการเข้ามาของสตาร์ตอัพด้านนี้ด้วย นอกจากนี้สิงคโปร์ ยังสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงขนาดกว่า 13 ไร่ ซึ่งมีทั้งถนนทดสอบที่เสมือนจริง สัญญาณไฟทางแยก ทางม้าลายและพายุฝนจำลอง สำหรับยานยนต์ไร้คนขับ เพื่อให้มั่นใจว่ารถยนต์ประเภทนี้สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน

สำหรับรถยนต์ไร้คนขับ หรือ Autonomous car คือ รถยนต์ที่มีความสามารถในการมองเห็นและเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบๆตัวของรถ สามารถขับเคลื่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องการคำสั่งในการบังคับจากมนุษย์

Autonomous car จะผ่านการควบคุมจากสมองซึ่งก็คือ AI ที่อยู่ในตัวรถ หรือบน Cloud ซึ่งผนวกรวมเอาเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ Computer Vision ซึ่งเปรียบเสมือนส่วนของการรับรู้ของรถ คือการใช้กล้อง เรดาร์ หรือเลเซอร์ เพื่อให้รถสามารถมองเห็น รู้ระยะ ความใกล้ไกลของวัตถุหรือรถต่างๆที่อยู่รอบตัว เป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการขับขี่อัตโนมัติ

Deep Learning เปรียบเสมือนสมองของรถยนต์ไร้คนขับ หลังจากที่รถมีข้อมูลที่ได้จากกล้องวิดีโอเซ็นเซอร์ต่างๆ ก็จะส่งข้อมูลเข้ามาที่ส่วนของสมองส่วนนี้ ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่ทำความเข้าใจว่ารูปที่ได้จากกล้องวิดีโอนั้น ส่วนไหนเป็นถนน ส่วนไหนเป็นรถยนต์คันอื่นหรือคนกำลังข้ามถนน จนไปถึงในการตัดสินใจว่าจะให้รถขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน เลี้ยวซ้ายหรือ เลี้ยวขวา Robotic หรือหุ่นยนต์ เปรียบเสมือนเส้นประสาท หลังจากที่ได้ข้อมูลในการตัดสินใจจากสมองมาแล้ว ส่วนนี้จะทำหน้าที่แปลงสัญญาณที่ได้และสัญญาณไฟฟ้าส่งไปที่ล้อและการควบคุมต่างๆ เพื่อให้รถยนต์อัตโนมัติสามารถเดินทางไปได้ และสุดท้าย คือ Navigation หรือระบบนำทาง เป็นระบบส่วนที่ใช้ในการติดต่อกับผู้ใช้งานสำหรับการตั้งค่าการเดินทาง ต้นทางไปยังปลายทาง รวมไปถึงการวิเคราะห์สภาพการจราจรและการนำทางบนเส้นทางต่างๆไปยังจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย

ในปี 2016 สมาคมยานยนต์สหรัฐฯ ทำการสำรวจพบว่าผู้ขับขี่กว่า 75% ยังไม่เชื่อมั่นในรถยนต์ไร้คนขับ แต่ผลสำรวจล่าสุดในเดือนมกราคม 2018 เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ตัวเลขลดลงเหลือ 63% ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ ถึงแม้ในความเป็นจริงสาเหตุหลักของอุบัติเหตุกว่า 90% จะเกิดจากการขับขี่โดยมนุษย์เองก็ตาม

อย่างไรก็ดี ผู้พัฒนารถยนต์คาดการณ์ว่าเมื่อรถยนต์ไร้คนขับมีปริมาณมากขึ้น ผู้คนจะเริ่มเห็นว่ามีการใช้งานจริงตามท้องถนน จะสามารถสร้างความคุ้นเคย และเพิ่มความเชื่อมั่นได้ เสมือนคนที่ไม่เคยขึ้นลิฟต์ การขึ้นครั้งแรกอาจน่ากลัว แต่เมื่อได้สัมผัสกับการใช้งานที่สะดวกสบายจะทำให้หลงรักความสะดวกสบายนั้นมากขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า ยานยนต์ไร้คนขับจะเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่รายบุคคลให้กลายเป็นรูปแบบการขับขี่ที่คำนวณเป็นระบบได้ กล่าวคือสามารถควบคุมยานพาหนะทั้งหมดบนท้องถนนและประเมินระบบการจราจรโดยรวมเพื่อที่จะพิจารณาว่ารถแต่ละคันควรจะทำงานแบบใด มีผลทำให้การจราจรคล่องตัว และเกิดความปลอดภัยบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับความเชื่อหลักที่ว่าเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับสามารถจะช่วยลดอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนที่อาจทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต ซึ่งอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนส่วนใหญ่เมื่อสืบสวนลงไปถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุถึงชีวิตนั้น พบว่ามักจะเกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์เอง

แม้จะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย แต่ก็เชื่อว่าอีกไม่นาน เร็วที่สุดน่าจะเป็นปี 2021 หรือ พ.ศ.2564 ยานยนต์ไร้คนขับจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในเมืองไทย และอาจจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ของการสัญจรไปมาบนท้องถนนของคนไทยมากขึ้นก็ได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ