ดันรัฐบาลฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู กรมเจรจายืนยันไทยได้ประโยชน์คุ้มจากการส่งออก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดันรัฐบาลฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู กรมเจรจายืนยันไทยได้ประโยชน์คุ้มจากการส่งออก

Date Time: 2 ธ.ค. 2563 08:28 น.

Summary

  • กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลศึกษาประโยชน์และผลกระทบการทำเอฟทีเอไทย-อียู ระบุหากมีการยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมด จะช่วยดันจีดีพีเพิ่ม 1.28% มูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี

Latest

เปิดตัว "ไทยรัฐ ครีเอทีฟ" ขยับสู่ธุรกิจ "สื่อสารการตลาดครบวงจร"

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลศึกษาประโยชน์และผลกระทบการทำเอฟทีเอไทย-อียู ระบุหากมีการยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมด จะช่วยดันจีดีพีเพิ่ม 1.28% มูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี ส่งออกไปอียูเพิ่ม 2.83% หรือ 2.16 แสนล้าน ทำคนจนลด 2.7 แสนคน รายได้เกษตรกรเพิ่ม 1.1% แต่มีประเด็น ท้าทาย ทั้งการคุ้มครองสิทธิบัตร ยา พันธุ์พืช และอาจมีสินค้าบางรายการที่ได้รับ ผลกระทบ เตรียมสรุปเสนอ “จุรินทร์” ก่อนนำเข้า กนศ.และ ครม.อนุมัติไทยฟื้น เจรจาอีกครั้ง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพ-ยุโรป (อียู) ที่ได้ว่าจ้างสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษานั้นเสร็จแล้ว และ ได้นำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์กรม www.dtn.go.th  แล้ว เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปดูรายละเอียด และจากนี้กรมจะนำผลการศึกษาดังกล่าว ผลการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่กรมได้ดำเนินมาแล้ว และผลจากการหารือกรอบการเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้อง มาสรุปและเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ พิจารณาก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติให้ไทยฟื้นการเจรจากับอียูต่อไป หลังจากเจรจากันมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 56-57 แต่ได้หยุดการเจรจาไป คาดว่าน่าจะเสนอ ครม.ได้ช่วงต้นปี 64

สำหรับผลการศึกษาของสถาบันอนาคตศึกษา พบว่าหากไทยและอียู 27 ประเทศ ไม่รวมสหราชอาณาจักร ยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมด จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 205,000 ล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% หรือ 216,000 ล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% หรือ 209,000 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาดอียูได้ง่ายขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาสำคัญ เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย และการขนส่งทางทะเล ที่จะทำให้นักลงทุนจากอียูเข้ามาลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ในไทยมากขึ้นนั้น จะทำให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรม และลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% หรือ 801,000 ล้านบาท อีกทั้งการประเมินผลมิติด้านสังคมในภาพรวม พบว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้จำนวนคนจนลดลง 270,000 คน รายได้ เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% และช่องว่างความยากจนลดลง 0.07%
ขณะที่ประเด็นท้าทายสำคัญ เช่น การยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนวางตลาดยา การผูกขาดข้อมูลเพื่อขออนุมัติวางตลาดยา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทางอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991) และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางของแรงงานโลกขององค์การ แรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค และเมล็ดพันธุ์พืชสูงขึ้นนั้น ต้องนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปประเมินหักลบกับประโยชน์ที่จะเกิดกับรายได้ของเกษตรกร ปริมาณผลผลิตภาคเกษตร และทางเลือกในการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในด้านการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ภาครัฐได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีตัวเลือกมากขึ้น ราคาถูกลง ถึงแม้ว่าธุรกิจภายในประเทศอาจต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น แต่คาดว่าไม่กระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) มากนัก เนื่องจากโครงการที่เอสเอ็มอีเข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่มีมูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเปิดให้มีการแข่งขันประมูล อย่างไรก็ตาม จากการศึกษายังพบว่า มีผลกระทบกับไทยด้วย โดยเฉพาะในสินค้าน้ำตาล นม เป็นต้น แต่ในการเจรจาไทยสามารถหาทางออกได้โดยไม่นำสินค้าอ่อนไหวมาลดภาษี หรือขอระยะเวลาในการปรับตัว เป็นต้น

“ประโยชน์และผลกระทบจากการศึกษาดังกล่าว ตั้งอยู่บนสมมติฐานเชิงวิชาการ ซึ่งในทางปฏิบัติ กรมยังจำเป็นต้องหารือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจัดทำท่าทีการเจรจาแต่ละประเด็นมีความรอบคอบ รัดกุม และเกิดประโยชน์กับประเทศสูงสุด รวมทั้งการหาแนวทางรองรับและปรับตัวต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ