รถไฟแสนล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รถไฟแสนล้าน

Date Time: 13 พ.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะระบบขนส่งทางรางไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน มีการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศ

Latest

“ชรินทร์” พลิกฟื้น “เดอะ ทวิน ทาวเวอร์” “รัดเข็มขัด” สร้างกำไรจุดขายใหม่ย่านบรรทัดทอง

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะระบบขนส่งทางรางไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน มีการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศ ที่ใกล้เคียงคำว่าผูกขาดเข้าไปทุกที กลายเป็นว่า ใครจะได้โครงการสัมปทานในสายไหนเส้นไหน ขึ้นอยู่กับการเขียนสเปกโครงการ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า บางโครงการมีการเปลี่ยนแปลงสเปกหลังจากที่มีการประกวดราคาไปแล้วด้วยซ้ำ

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ รัฐบาล ต้องรับประกัน ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ให้มากที่สุด โดนไม่มีการลูบหน้าปะจมูก โดยเฉพาะ คนในรัฐบาลเอง ที่เป็นทั้งคนที่ควบคุมนโยบายและควบคุมธุรกิจการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งในยุคก่อนๆจะมีการเข้มงวดมาก สำหรับการคัดเลือกคนที่จะเข้ามา ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อไม่ให้เข้าข่ายความผิดเอื้อผลประโยชน์ พรรคพวก ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด เช่นที่ผ่านมา กรณีที่ดินรัชดา แม้จะมีการดำเนินการตามกรอบของกฎหมายทุกอย่าง ยังถูกพิจารณาเอาผิดได้

วันนี้ การที่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มีผู้ยื่นซองอยู่แค่ 2 ราย คือกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR และบริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM

กลุ่ม BSR ประกอบด้วย BTSC บีทีเอสกรุ๊ป หรือ BTS และซิโน-ไทย รับสัมปทานรถไฟฟ้ารวม 4 โครงการ ได้แก่ สายสีเขียว สายสีทอง สายสีชมพู และสายสีเหลือง กลุ่ม BEM รับสัมปทานสายสีน้ำเงินและสีม่วง มาแล้ว

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี เชื่อม กทม.ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มูลค่า แสนล้าน ไม่ว่าใครจะได้สัมปทานไปก็จะได้รับประโยชน์ในการเชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

การประกวดราคา แบ่งเป็น 4 ซอง คุณสมบัติ เทคนิค การเงินและข้อเสนอเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครอง ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว BTSC หลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม.ถูกฟ้องศาลปกครอง กรณีที่มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชนและวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน การคัดเลือกเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว

เรื่องอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ของ รฟม. ต่อ ศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนคำสั่ง ศาลปกครองกลาง และยังยืนยันว่า การเปิดรับข้อเสนอจากเอกชน จะไม่มีผลกระทบใดๆ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว รฟม. จะกำหนดให้ใช้เกณฑ์การคำนวณเฉพาะคะแนนด้านราคาที่ 100 คะแนน เหมือนเดิม

ว่ากันว่ามีการต่อสู้แข่งขันระหว่างสองค่ายในการเข้าชิงพื้นที่รถไฟฟ้าเที่ยวนี้กันดุเดือด ฉากหลัง จะดุเดือดอย่างไร ใครเอี่ยวด้วยคงไม่ต้องบรรยาย ความสำคัญของเรื่องก็คือ รฟม.ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศและดำเนินการให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะไม่ว่าใครจะได้ประโยชน์ ประชาชนต้องไม่เสียประโยชน์อย่างเด็ดขาด.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ