เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์มองเศรษฐกิจไทยปี 64 โต 2-4% ไม่ได้เห็นวีเชฟ หากการท่องเที่ยวยังเปิดได้น้อยเศรษฐกิจไทยมีโอกาสไม่เติบโตหรือโตเป็นศูนย์ ห่วงภาคแรงงานมากสุด หลังคนตกงานและคนที่ทำงานน้อยกว่าเวลาทำงาน ซึ่งขณะนี้มีเพิ่มขึ้นถึง 11 ล้านคน หวั่นกระทบกำลังซื้อทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร เพราะคนในชนบทพึ่งพาเงินจากลูกหลานมากถึง 65% แนะรัฐใช้จ่ายลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่มองเศรษฐกิจไทยเหมือนกระทะเทปล่อนไหลลื่นไปกับการเมืองได้โดยไม่มีผลกระทบรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2563 หัวข้อเรื่อง “อยู่รอด อยู่เป็น ผ่านโควิด-19 ไปด้วยกัน” ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งของสมาคม ประกอบด้วย น.ส.กิริฏา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เกียรติ นาคินภัทร นายชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก และนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
โดยนักเศรษฐศาสตร์มองว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะอยู่กับเศรษฐกิจไทยไปอีก 2 ปี และจะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยไปอีกระยะ โดยฐานะของคนไทยจะไม่ดีเท่าเดิม สำหรับปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบ 7.5-9% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2540 และเป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในลักษณะวีเชฟ โดยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวช้าๆ มีผลกระทบหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2-4% อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงคือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เพราะมีมูลค่าสูงถึง 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หากยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ต่ำมาก หรือ 1,200 คนต่อเดือนเหมือนช่วงนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ปีหน้าเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่เติบโตเลยก็เป็นได้
สำหรับภาคการส่งออกมองว่าเป็นภาคที่เริ่มฟื้นตัวเร็วกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะจะฟื้นตัวชัดเจนในครึ่งหลังของปีหน้า อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องกังวลในเรื่องสงครามการค้า เพราะไม่ว่า “ทรัมป์” หรือ “ไบเดน” ขึ้นเป็นประธานาธิบดีก็ยังมีปัญหากับจีนต่อเนื่อง ซึ่งอาจกระทบการส่งออกของไทย ขณะที่ด้านการใช้จ่ายในช่วงต่อไปจะยังชะลอตัวอยู่ เพราะแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ไม่ได้กลับไปทำงานเต็มศักยภาพอาจจะอยู่ที่ 85% เพราะไม่มีภาคการท่องเที่ยว และที่น่าเป็นห่วงคือ กำลังซื้ออาจจะลดลงอีก เพราะในอนาคตมีความเสี่ยงที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการบางส่วนจะปิดกิจการเพิ่มอีก ซึ่งจะกระทบกับภาคแรงงานให้ตกงานเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น สัดส่วนที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ คนที่มีงานทำแต่ไม่ได้ทำงานและคนที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจจะมีปัญหาในการครองชีพ ซึ่งหากรวมกันทั้ง 3 กลุ่มในขณะนี้จะอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านคน นอกจากนั้น ผลจากรายได้ ที่ลดลงของแรงงานนอกภาคเกษตรยังกระทบต่อรายได้ของแรงงานในภาคเกษตร เพราะ 65% ของรายได้ของเกษตรกรมาจากเงินที่ลูกหลานนอกภาคเกษตรส่งมาให้ ดังนั้น ภาคแรงงานน่าเป็นห่วงมาก รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องวางนโยบายประเทศในลักษณะการจ้างงานมากขึ้น เช่น ใช้หนทางงานแลกเงินในลักษณะให้สวัสดิการ
“ขณะนี้กลไกเดียวที่มีอยู่คือรัฐบาล และข้อดีคือรัฐบาลยังสามารถกู้เงินได้ต่อเนื่อง แม้คาดกันว่า หนี้สาธารณะปีหน้าจะเข้าใกล้ 60% ของจีดีพี ดังนั้นรัฐไม่ได้ถังแตก แต่มีเงินแล้วจะนำเงินที่มีไปสู่การใช้จ่ายและการลงทุนอย่างไรที่จะทำให้เจ้าหนี้อยากให้รัฐบาลกู้เพิ่ม รัฐต้องตอบโจทย์ว่าเราจะพาประเทศไปทางไหนด้วยการใช้จ่ายและการลงทุนในช่วงนี้เป็นเข็มทิศ เพื่อตอบรับทั้งปัญหาเดิมและโควิด-19 เช่น การวางกลยุทธ์เพื่อรับมือสังคมสูงอายุ การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งการเข้าฐานเศรษฐกิจเทคโนโลยีและดิจิทัล โดยมีแนวทางสำคัญ 3 แนวทาง คือ 1.เป็นโครงการที่ทำแล้วช่วยให้จีดีพีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไม่เพิ่มจีดีพีแถมยังรั่วไหล 2.ต้องไม่ดันให้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมเพิ่มขึ้น 3.ใช้แล้วต้องหาทางจ่ายคืน เช่น การลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือหารายได้ของรัฐเพิ่ม ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนและประชาชนต้องใช้เวลานี้ในการปรับธุรกิจสู่ยุควิถีใหม่ และเพิ่มทักษะแรงงานของตัวเอง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของทุกอย่างในโลกหลังโควิดด้วย
สำหรับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยนั้น มองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะยาวๆ และเชื่อว่า หากมีกรณีเลวร้ายเช่นการระบาดรอบ 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีพื้นที่ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก นโยบายการเงินจึงยังไม่ตีบตันทีเดียว ขณะเดียวกัน ธปท.ต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้กลับมาแข็งค่าจนกระทบการส่งออกและเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งปรับเงื่อนไขสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน หรือซอฟต์โลน โดยอาจต้องรับภาระความเสียหายที่มากขึ้นเพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ
ขณะที่ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น ประเทศไทยเคยเผชิญหน้ากับสถานการณ์ทาง การเมืองรุนแรงมากมาแล้วหลายครั้ง โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยเหมือนกระทะเทปล่อนที่สามารถไหลลื่นไปกับการเมืองได้ โดยไม่มีผลกระทบที่รุนแรง.