เปิดอาณาจักรเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ วิสัยทัศน์ "อัศวิน" บนวิถีธุรกิจใหม่ "นิวนอร์มอล"

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดอาณาจักรเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ วิสัยทัศน์ "อัศวิน" บนวิถีธุรกิจใหม่ "นิวนอร์มอล"

Date Time: 5 ต.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • กว่า 138 ปี ที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับชื่อของบริษัทการค้า “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ที่เริ่มต้นจากหุ้นส่วนธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ ตระกูลเบอร์ลี่ กับตระกูลยุคเกอร์ ที่เข้ามาทำการค้า

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

กว่า 138 ปี ที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับชื่อของบริษัทการค้า “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ที่เริ่มต้นจากหุ้นส่วนธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ ตระกูลเบอร์ลี่ กับตระกูลยุคเกอร์ ที่เข้ามาทำการค้าในราชอาณาจักรสยามเมื่อ พ.ศ.2425

จากธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้า ไม้สัก เหมืองแร่ โรงสีข้าว และการเดินเรือในยุคนั้น ได้ขยายธุรกิจมาถึงการผลิต และนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อมา-ขายไป ก่อนจะมาอยู่ในมือของ “เจ้าสัวเจริญ” เมื่อกลุ่มไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น (TCC) บริษัทชั้นนำของไทยได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ในปี 2544

“อาณาจักรเบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะช่วง 10 กว่าปีให้หลังมานี้ ในห้วงเวลาที่ “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ได้รับมอบหมายให้เข้ามาเป็นผู้นำองค์กรแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งตลอด 12 ปีที่ผ่านมา “สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยให้ผู้ถือหุ้นปีละ 26% เพิ่มยอดขายจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 170,000 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มจาก 10,000 ล้านบาท เป็น 260,000 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ผงาดขึ้นเป็น 1 ใน 50 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ และมีงานพนักงานกว่า 66,000 คน”

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้ขอให้ “อัศวิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC ฉายภาพ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” วันนี้ รวมถึงเส้นทางการเติบโตว่า ได้นำพาธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติมาได้อย่างไร และท่ามกลาง New Normal วิถีธุรกิจใหม่ ก้าวต่อไปของอาณาจักรแห่งนี้จะเป็นอย่างไร

“อัศวิน” เปิดประตูพาเราเข้าไปรู้จักอาณาจักรเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ว่าปัจจุบันเป็นผู้ผลิต จำหน่าย นำเข้า และรับจัดจำหน่าย ทำการตลาด ขนส่งและกระจายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และยังได้ขยายธุรกิจออกไปหลายประเทศในอาเซียน

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์-โลจิสติกส์

“เริ่มต้นฉายภาพจากธุรกิจเก่าหรือธุรกิจดั้งเดิมของกลุ่มบริษัท ที่ได้มีการลงทุนพัฒนาจนธุรกิจเติบโตขึ้นมาอยู่ระดับหัวแถวในภูมิภาคคือ ธุรกิจสินค้าและบริการบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว กระป๋องและฝาอะลูมิเนียม ถือเป็นธุรกิจต้นน้ำที่ยังดำเนินการอยู่ โดยได้ลงทุนขยายกิจการมาอย่างต่อเนื่อง”

จนปัจจุบันมีโรงหลอมบรรจุภัณฑ์แก้ว ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยทั้งในประเทศ และยังร่วมทุนกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อซื้อฐานการผลิตในมาเลเซียและเวียดนาม ส่งผลให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมสูงถึง 4,800 ล้านกระป๋องต่อปี และกำลังผลิตฝาอะลูมิเนียม 3,450 ล้านฝาต่อปี โดยปี 2562 ธุรกิจกลุ่มบรรจุภัณฑ์มีรายได้รวมกันมากกว่า 16,000 ล้านบาท!!

ขณะเดียวกัน ยังต่อยอดด้วยบริการโลจิสติกส์ คือการขนส่งและกระจายสินค้า ซึ่งถือเป็นธุรกิจกลางน้ำที่มีความแข็งแกร่ง ทั้งเครือข่ายการจัดจำหน่าย และคลังสินค้า หรือศูนย์กระจายสินค้าภายใต้การบริหาร 22 แห่งทั้งในไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีโครงข่ายการขนส่งที่เชื่อมโยงครอบคลุมทั้งในไทยและเวียดนาม ซึ่งโครงข่ายการขนส่งที่แข็งแกร่งนี้เอง ที่ช่วยสนับสนุนและรองรับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอื่นๆของบริษัท

สินค้าอุปโภคบริโภค-ยา-เครื่องมือแพทย์

ในส่วนของธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ถือว่าเป็นทั้งธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำ คือ เป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีแบรนด์หรือตราสินค้าของบริษัทและรับจ้างผลิต ซึ่งมีฐานการผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือเวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และเมียนมา

“หากพูดถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นตราสินค้าของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ต้องยกให้ “สบู่หอมนกแก้ว” สบู่สมุนไพรก้อนสีเขียว ที่เชื่อว่าคนไทยมากกว่าครึ่งประเทศต้องรู้จัก เพราะเป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 73 ปี ปัจจุบันพัฒนามาเป็นสบู่เหลว “แพรอต” ที่มีหลากสีหลายกลิ่น หรือตราสินค้าของกระดาษทิชชู “เซลล็อก” และ “ซิลล์” เหนียวนุ่มคุ้มค่าที่มียอดขายอันดับหนึ่งในตลาด”

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด “บีเจซี ไฮจีนิสท์” หรือเครื่องสำอาง “เบอร์ลี่ ป๊อบส์ พรีเมดิกา” และผลิตภัณฑ์เด็ก “เดอร์มาพอน” ขณะที่กลุ่มอาหารขนมขบเคี้ยว มีทั้งมันฝรั่งทอดกรอบเทสโต-ปาร์ตี้-แคมปัส เป็นตัวชูโรง รวมทั้ง ข้าวเกรียบข้าว “โดโซะ” ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มมี “แคมปัส ช็อคโกดริ้ง” “โยเกิร์ตแอคทีเวีย” และนมเปรี้ยวผสมวุ้นมะพร้าวแดนอัพ เป็นต้น

“อัศวิน” บอกว่า หากรวมสินค้าที่เรารับจัดจำหน่ายให้กับผู้ผลิตต่างๆ ด้วยแล้ว “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” มีสินค้ารวมกันมากกว่า 1,000 รายการ ที่วางขายอยู่ในห้างค้าปลีก ซุปเปอร์มาร์เกต และร้านสะดวกซื้อ

“เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ยังมีธุรกิจที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้ คือ กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์ โดยเป็นผู้นำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย เช่น เครื่องเอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอ็มอาร์ไอ เครื่องฟอกไต เครื่องตรวจมะเร็งเต้านมสามมิติ เครื่องรักษามะเร็ง มีด-กล้องและอุปกรณ์ผ่าตัด

รวมทั้งนำเข้ายารักษามะเร็ง ยารักษากลุ่มโรคเลือด ที่มีการวิจัยและนวัตกรรมชั้นสูงจากต่างประเทศ โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาล และสถาบันทางการแพทย์ เรายังมีร้านขายยา “เพียว” ที่ตั้งอยู่ในบิ๊กซีถึง 130 ร้าน และล่าสุดยังได้จับมือกับแบรนด์ร้านขายยาขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น เพื่อนำสินค้าที่อยู่ในร้านขายยาญี่ปุ่นมาวางจำหน่ายในห้างบิ๊กซีด้วย

ห้าง “บิ๊กซี” ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ “บิ๊กซี” ถือเป็นธุรกิจปลายน้ำของ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” และเป็นธุรกิจที่บริษัทได้รุกขยายการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุด โดยเข้าประมูลซื้อ “บิ๊กซี” มาได้เมื่อปี 2559 ในราคากว่า 200,000 ล้านบาท ถือเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ทำธุรกิจได้ครบวงจรตั้งแต่ต้นกระบวนการผลิต มาจนถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าสู่มือผู้บริโภคได้โดยตรง

เป็นการสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มบริษัท “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” อย่างก้าวกระโดด!!

ทั้งนี้ เมื่อ “บิ๊กซี” มาอยู่ในมือของบริษัท ก็ได้เร่งขยายสาขาในประเทศไทยจาก 700 กว่าสาขาในปี 2559 ภายในเวลาเพียง 4 ปี ปัจจุบันบิ๊กซีมีสาขามากกว่า 1,400 สาขา เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว!! นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของ “ร้านกาแฟวาวี” และร้านหนังสือ “เอเชียบุ๊ค” ร้านหนังสือชั้นนำที่มีสาขากว่า 50 สาขา

“อัศวิน” เล่าถึงบรรยากาศตอนประมูลซื้อห้างบิ๊กซีว่า “ท่านประธานเจริญ” ประธานกรรมการ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เป็นผู้ตัดสินใจเคาะราคาสุดท้าย ซึ่งวันนั้นเป็นวันตรุษจีน ผมอยู่กับท่าน และทีมงานที่กรุงเทพฯ ทีมเจรจาจากต่างประเทศจะรายงานเข้ามาเรื่อยๆ จนประมูลบิ๊กซีมาได้ในราคาร่วม 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก โดยได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งโชว์ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสถาบันการเงิน และความเชื่อมั่นในชื่อของท่านประธานเจริญ

ทำธุรกิจเน้นความเป็นกลาง

สำหรับนโยบายในการทำธุรกิจ “อัศวิน” บอกว่า “ประธานเจริญ” ได้ให้นโยบายและเน้นย้ำ ว่าต้องเน้นเรื่องความเป็นกลาง โดยเฉพาะตอนประมูล “บิ๊กซี” มา เรามีนโยบายที่ชัดเจนมาก เพราะมีคำถามว่า เมื่อบิ๊กซีเป็นของเราแล้ว เราจะดูแลสินค้าในกลุ่มที่เป็นคู่แข่งของกลุ่ม TCC อย่างไร ดังนั้น เราจึงได้จัดงาน “ซัปพลายเออร์ คอนเฟอเรนซ์” โดยเชิญคู่ค้าจากทั่วประเทศมาเพื่อชี้แจงว่า บิ๊กซีเป็นห้างของคนไทย ที่เราได้เป็นเจ้าของแล้ว และให้ความมั่นใจว่า เราจะปฏิบัติ และดูแลคู่ค้าของเราอย่างดี โดยเน้นความเป็นธรรมและเป็นกลาง

“วันนั้นได้เชิญแขกผู้ใหญ่สำคัญ 3 ท่าน คือท่านประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือซีพี คุณอาสันติ ภิรมย์ภักดี ประธานกลุ่มสิงห์ หรือเครือบุญรอดบริวเวอรี่ คุณลุงบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย เพื่อชี้แจงถึงการปฏิบัติต่อคู่ค้าของเรา

ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ให้เห็นว่า เรามีความชัดเจนและให้ความสำคัญกับการดูแลคู่ค้า และนโยบายการวางสินค้าที่เป็นกลาง ในวันนั้นผมได้จัด shelf ทำร้านตัวอย่างให้ดูว่า เมื่อโซดาช้างกับโซดาสิงห์วางคู่กันในชั้นจำหน่ายในบิ๊กซีแล้วจะเด่นไม่แพ้กัน ซึ่งเราให้ความสำคัญกับคู่ค้าทุกราย”

เขาย้ำด้วยว่า “อย่างแก้วบรรจุสินค้าหรือเครื่องดื่มต่างๆที่โรงงานเราผลิตได้ขายให้ผู้ประกอบการในไทยทุกค่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสิงห์ กลุ่มช้าง รวมทั้งกลุ่มโอสถสภา โดยเราปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและ เท่าเทียม รวมทั้งผู้ประกอบการรายเล็กอื่นๆด้วย ขณะเดียวกัน สินค้าของ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ก็ยังต้องวางขายในห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อของค่ายอื่นๆด้วยเช่นกัน ทั้ง 7-11, เทสโก้โลตัส หรือแม็คโคร”

เดินหน้าลุยค้าปลีกเวียดนาม

“อัศวิน” ยังเล่าว่า ก่อนที่จะซื้อบิ๊กซี “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ได้ลองลุยสนามค้าปลีกมาบ้างแล้ว โดยทำห้างค้าปลีกค้าส่งชื่อ “เอ็มเอ็ม เมกก้า มาร์เกต” (MM Mega Market) โดยเปิดสาขาแรกที่จังหวัดหนองคาย

หลังจากนั้น จึงขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยเข้าไปซื้อร้านสะดวกซื้อ “บี สมาร์ท” (B’s Mart) ในเวียดนาม และขยายสาขาเพิ่มจนปัจจุบันมี 139 สาขา จากนั้นได้เข้าซื้อห้างค้าปลีกค้าส่งชื่อ “METRO” ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ MM Mega Market ที่ ขณะนี้มี 19 สาขาในหัวเมืองใหญ่ของเวียดนาม

ที่เวียดนามเรามีธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเหมือนในไทย ที่มีโรงงานบรรจุภัณฑ์แก้ว กระป๋อง ทิชชู มีคลังและศูนย์กระจายสินค้า มีเครือข่ายการขนส่งที่ครอบคลุม รวมทั้งห้างค้าส่งค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อ เราวางเวียดนามเป็นฐานธุรกิจใหญ่ในต่างประเทศ เพราะมีประชากรจำนวนมาก และยังได้เข้าไปตั้งร้านสะดวกซื้อ “มินิ บิ๊กซี” (Mini Big C) ในลาว 50 สาขา และในกัมพูชาด้วย

โควิดตัวเร่งปรับโครงสร้างองค์กร

ในช่วงสุดท้าย “อัศวิน” ได้เล่าถึงการฝ่าวิกฤติโควิค-19 และการปรับตัวสู่วิถีธุรกิจใหม่ New Normal ว่า โควิด-19 เป็นทั้งวิกฤติและโอกาส แม้ธุรกิจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนและพัฒนาการดำเนินงานในหลายด้านให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และได้ปรับกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจต่างๆให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งของโลกและในประเทศไทย

โดยกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ได้ขยายฐานลูกค้า โดยเจาะตลาดใหม่ในบรรจุภัณฑ์ด้านอาหารและยา รวมทั้งใช้เทคโนโลยีพัฒนาสินค้า เช่น ขวดแก้วน้ำหนักเบา ส่วนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ได้หันมาออกสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อการดูแลรักษาสุขภาพ และสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์มากขึ้น

ขณะที่กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อนำสินค้าและบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และนวัตกรรมใหม่ๆมาสู่ผู้บริโภค รวมถึงมุ่งสร้างการเติบโตของธุรกิจด้านพลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์

สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่นั้น “บิ๊กซี” ได้ให้ความสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางของชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทย ในการหาสินค้าคุณภาพดี ราคาประหยัดสู่มือผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อสร้างความคุ้มค่า และช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ตอกย้ำปณิธานของบิ๊กซีในการเป็น “ห้างคนไทย หัวใจคือลูกค้า” และเชื่อมโยงช่องทางค้าปลีกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับก้าวย่างต่อไป กลุ่ม “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ยังคงมองหาตลาดใหม่ๆในต่างประเทศ รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆอยู่เสมอ แต่จะเป็นการลงทุนที่สอดรับกับวิถีธุรกิจใหม่ เพื่อมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสู่ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ