นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมออกแถลงการณ์ในเร็วๆนี้ว่า พนักงาน กฟผ.ทุกคนจะไม่ขอรับโบนัสจากการทำงาน 2 ปี ในผลประกอบการของ กฟผ.ระหว่างปี 63-64 เพื่อนำเงินส่วนนี้ส่งมอบให้รัฐบาลนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ ปัจจุบัน กฟผ.มีพนักงานรวม 18,000 คนทั่วประเทศ และโบนัสครั้งล่าสุดปี 62 พนักงานได้รับเฉลี่ยคนละ 2.3 เดือน
ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานบอร์ด กฟผ. เผย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กำลังหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพิจารณาแยกประเภทอัตราค่าไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เนื่องจากมีแนวโน้มรถอีวีจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมในเร็วๆนี้ และจะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยแน่นอน ทำให้ กฟผ.ต้องวางบทบาทองค์กรให้เป็นแหล่งพลังงานเพื่อรถขนส่งสาธารณะด้วยการมุ่งพัฒนาวิจัยแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) โดยร่วมมือกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการติดตั้งที่สถานีบริการน้ำมันของ ปตท. และแผนยุทธศาสตร์ของ กฟผ.ก็ต้องมีการพัฒนานวัตกรรมพลังงานภายใต้ชื่อบริษัท อีแกท อินโนเวชั่น โฮลดิ้งส์ คัมปานีส์ จำกัด
ส่วนกรณีคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้สั่งการให้ กฟผ.ไปศึกษาต้นทุนค่าไฟฟ้าเพื่อให้ลดราคาลงมาบรรเทาค่าครองชีพประชาชน ล่าสุด กฟผ.สามารถปรับลดต้นทุนการดำเนินงานของ กฟผ.ได้เป็นอันดับแรก เช่น การปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่า ที่มีต้นทุนสูงเพื่อสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่ๆที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าแทน เป็นต้น วิธีนี้อาจลดต้นทุนได้โดยต้องปรับลดอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) ขณะที่นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.
เปิดงาน “E Trans E” นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมปล่อยขบวนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ 2 ลำจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 214 กิโลวัตต์/ชม. โดย กฟผ.นำร่องวินมอเตอร์ไซค์ ไฟฟ้าใน อ.บางกรวย 51 คัน วิ่งได้ 100 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุด 80 กม.ต่อ ชม. ติดตั้งระบบจีพีเอสเพิ่มความปลอดภัยและสร้าง
ความมั่นใจแก่ผู้โดยสาร โดยผู้ขับขี่สับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำรองได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ที่จะเริ่มให้บริการได้ในเดือน ธ.ค.นี้.