ศาลเห็นชอบตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศรินพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคบุญทักษ์ หวังเจริญ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ร่วมทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยตามที่ร้องขอ ด้วยเหตุยังเป็นองค์กรที่สร้างรายได้ ปัญหาไม่ได้เกิดจากพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เป็นผลจากวิกฤติโควิดซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ขณะที่รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ระบุเจ้าหนี้สามารถยื่นขอรับชำระหนี้กำหนด 1 เดือนนับแต่คำสั่งศาลลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้าทุกอย่างราบรื่นสามารถปลดล็อกได้ภายใน 5 ปี
ที่ศาลล้มละลายกลาง เมื่อวัน 14 ก.ย. ศาลนัดฟังคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ 10/2563 ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ผู้ร้องขอ กับเจ้าหนี้หลายรายเป็นผู้คัดค้าน สืบเนื่องจากบริษัทการบินไทย ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและขอให้ศาลตั้งบุคคลที่ลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ศาลประกาศนัดไต่สวนโดยมีเจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้าน 16 ราย ขอให้ศาลยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและคัดค้านผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ ระหว่างการพิจารณาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 5, 7, 9 และ 16 ถอนคำคัดค้านศาลพิเคราะห์คำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ คำคัดค้านและพยานหลักฐานในสำนวนคดีแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรก ลูกหนี้มีหนี้สิน
ล้นพ้นตัวหรือไม่ สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อพิจารณางบแสดง ฐานะทางการเงินวันที่ 31 มี.ค. และวันที่ 30 มิ.ย. ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบประกอบกับสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงินของลูกหนี้บางรายการมิได้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่สามารถยึดหรือบังคับชำระหนี้ได้ เป็นเพียงการบันทึกตามมาตรฐานทางบัญชีเท่านั้น จึงฟังได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ตามกำหนด เป็นหนี้ที่มีเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนที่แน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยในประการถัดมา คือมีเหตุอันควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงสร้างธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ มีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ ลูกหนี้มีทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่าและบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีชื่อเสียงและประสบการณ์จากการประกอบกิจการมายาวนาน ปัจจุบันลูกหนี้ยังคงมีความสามารถในการสร้างรายได้ สาเหตุที่ทำให้ลูกหนี้ประสบปัญหาทางการเงิน มิได้เกิดจากพื้นฐานธุรกิจของลูกหนี้อย่างแท้จริง แต่เกิดจากสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติโควิด
สำหรับช่องทางการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อเครื่องบินหลายรายสนับสนุนให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและยินยอมให้ลูกหนี้ใช้เครื่องบินที่ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อ โดยพักหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้บางส่วน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้และไม่ประสงค์คัดค้านคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการที่ลูกหนี้เสนอมา แสดงเป็นหลักฐานยืนยันว่าลูกหนี้เจรจาประนอมหนี้เรื่อยมาและได้รับการสนับสนุน จากเจ้าหนี้ หากได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โครงสร้างองค์กรและการบริหารจัดการของลูกหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ย่อมมีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไปและสามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมในจำนวนที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรืออย่างน้อยจะไม่เสียหายเพิ่มจากการคงสภาพกิจการของลูกหนี้ ทั้งสามารถรักษาการจ้างงานจำนวนมากเป็นประโยชน์มากกว่าการปล่อยให้กิจการล้มละลาย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ามีเหตุอันควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สาม ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยสุจริตหรือไม่ ศาลพิจารณา แล้วเห็นว่า เมื่อลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้ตามกำหนดได้ ลูกหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องได้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ การที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมมีผลบังคับเจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้เจรจาตกลงในเรื่องมูลหนี้ โดยมีผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเป็นผู้แทนของลูกหนี้ หาวิธีรักษามูลค่าทรัพย์สินของลูกหนี้และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ด้วยความเป็นธรรม จากข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยข้างต้นจึงรับฟังได้ว่า ลูกหนี้มีคุณสมบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม.90/3 และได้ความจริงครบถ้วนตาม ม.90/10
ส่วนปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้าย บุคคลที่ลูกหนี้เสนอสมควรเป็นผู้ทำแผนหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการต้องตรวจสอบรายละเอียดและความเป็นไปได้จากการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้แผน ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้บนหลักการที่ว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะต้องก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายและเจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้ หากผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ที่มีสัดส่วนหนี้ข้างมากตามกฎหมายหรือทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม แผนฟื้นฟูกิจการเช่นว่านั้นย่อมไม่ได้รับความเห็นชอบ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ที่ลูกหนี้เสนอขาดคุณสมบัติ หรือไม่สมควรเป็นผู้ทำแทน จึงเห็นสมควรตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม.90/17
ศาลจึงมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่ลูกหนี้ผู้ร้องขอ โดยตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับพลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการและให้เจ้าหนี้ทั้งหมดยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่มีคำสั่ง
ภายหลังศาลมีคำสั่งในคดีนี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการฟื้นฟูกิจการ คาดว่าจะนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลได้เร็วที่สุดภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 63 ในส่วนของเจ้าหนี้ ขณะนี้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว เจ้าหนี้สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้มีกำหนด 1 เดือนนับแต่ที่คำสั่งศาลประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.led. go.th/tgreorg/index.asp หรือ QR Code หรือยื่นขอรับชำระหนี้ที่จุดบริการต่างๆ อาทิ บริษัท
การบินไทยฯ สำนักงานใหญ่ กรมบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ ศูนย์บังคับคดีล้มละลายส่วนหน้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. (สำหรับหุ้นกู้) และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (สำหรับหุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์) นายชาญศิลป์ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้การบินไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเว็บไซต์ให้ผู้ถือหุ้นกู้ของการบินไทยสามารถตรวจสอบจำนวนหนี้หุ้นกู้ได้ที่ www.tgbondinfo.com ส่วนลูกค้าที่ประสงค์ขอเงินค่าบัตรโดยสารคืน (Refund) จะได้รับชำระหนี้ตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ การบินไทยจะแจ้งให้เจ้าหนี้ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อไป และหากผู้ถือหุ้นกู้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นขอรับชำระหนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารประกอบและแนวทางการยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่เว็บไซต์ของกรมบังคับคดี www.led.go.th เว็บไซต์ของบริษัท การบินไทย www.thaiairways.com หรือสอบถามได้ที่กรมบังคับคดี 0-2881-4999 หรือคอล เซ็นเตอร์ ของบริษัทการบินไทย ที่ 0-2356- 1111 กด 8
“ผมยืนยันทุกอย่างต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว คาด 5 ปีจะสามารถปลดล็อกได้ เพราะการบินไทยมีความสามารถ มีทรัพยากรที่ดี ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่เจ้าหนี้ต้องยินยอมลดทุนลดหนี้ด้วย ทั้งนี้ การบินไทยมีเจ้าหนี้รายใหญ่อยู่ 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีการลงทะเบียนยื่นขอชำระหนี้จากเจ้าหนี้แล้วจะเห็นตัวยอดหนี้ที่แท้จริง คาดตัวเลขจะเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่มาก” นายชาญศิลป์กล่าว