นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงมาตรการ “คนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศวงเงิน 45,000 ล้านบาท ให้ประชาชน 15 ล้านคน ซึ่งผ่านความเห็นชอบของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “ศบศ.” เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ว่า นโยบายจะเป็นการแจกเงินให้คนละ 3,000 บาท เพื่อซื้อของกับผู้ค้ารายย่อย โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องควักเงินของตนครึ่งหนึ่งมาใช้ร่วมกับเงินรัฐบาล โดยรัฐบาลจะช่วยจ่าย 50% ของการใช้เงิน เช่น ถ้าจะใช้เงินที่รัฐให้ 3,000 บาท ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีเงิน 3,000 บาท ใส่เข้าไปในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อเป็นช่องทางในการรับและจ่ายเงิน
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยเบื้องต้นการใช้เงินจะถูกจำกัดไว้ที่วันละ 100-200 บาท และขณะนี้กำลังประเมินความเหมาะสมของจำนวนเงินต่อวันควรอยู่ที่เท่าใด โดยเงินที่รัฐบาลให้นั้นต้องใช้หมดวันต่อวัน หากใช้ไม่หมดจะไม่สามารถเก็บไว้ใช้ในวันต่อไปได้ นอกจากนี้จะต้องนำไปใช้ในร้านค้ารายย่อยที่ขึ้นทะเบียน “ถุงเงิน” ไว้กับธนาคารกรุงไทย อาทิ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหารตามสั่ง หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น เพื่อให้เงินกระจายลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค.2563 เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้เป็นการใช้จ่ายแบบครั้งเดียววันละ 1,000 บาทเหมือนกับมาตรการชิมช้อปใช้ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้
“โครงการนี้มีลักษณะเงินต่อเงิน คือประชาชนต้องควักเงินมาต่อเงินที่รัฐบาลจะให้ด้วย เช่น กำหนดให้ใช้วันละ 100 บาท ประชาชนต้องมีเงิน 50 บาทมาร่วมใช้จ่ายในแต่ละวันด้วย โดยตลอดโครงการจะมีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาท และจะพยายามจัดทำรายละเอียดและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ เพื่อเปิดให้ลงทะเบียนทั้งร้านค้า และประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการผ่าน www.คนละครึ่ง.com ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้มีร้านค้ารายย่อยอยู่ในระบบถุงเงินกว่า 50,000 แห่ง และก่อนจะเริ่มโครงการจะเปิดรับสมัครเพิ่มร้านค้าเป็นไม่น้อยกว่า 100,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นขณะนี้อยู่ในการพิจารณาว่าจะให้เข้าร่วมหรือไม่”.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง