คณะทำงานสอบข้อเท็จจริงส่งหนังสือสอบทุจริตการบินไทย ให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ นายกรัฐมนตรี และ ป.ป.ช. จับโป๊ะแตกทุจริตได้ 2-3 ประเด็น มีหลักฐานแต่ไม่มีอำนาจ จึงขอส่งไม้ต่อ ขณะที่บริษัทลูกของการบินไทยประกาศเลิกจ้างพนักงานรวด 2,600 คน เพราะไม่มีงาน ไม่มีเงิน ด้านนกแอร์ขาดทุนครึ่งปีแรก 3,700 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2563 ที่กระทรวงการคลัง นายคมกฤช วงศ์สมบุญ หัวหน้าคณะทำงานชุดย่อยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพบทุจริตในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางมายื่นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานจำนวน 18 แฟ้มต่อกระทรวงการคลังในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวน 49% เพื่อให้ร่วมตรวจสอบปัญหาการขาดทุนและการทุจริตในการบินไทย โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักรัฐมนตรีกระทรวงการคลังมารับหนังสือ
โดยนายคมกฤช กล่าวว่า สืบเนื่องจากนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแลการบินไทยก่อนที่บริษัทจะแปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน พบการขาดทุนสะสมต่อเนื่องหลายปี จึงตั้งคณะทำงานชุดใหญ่และชุดย่อย มีทั้งฝ่ายการพาณิชย์ ฝ่ายบัญชี ฝ่ายบริหารกิจการ ฝ่ายครัวการบินไทย ฝ่ายคลังสินค้าและฝ่ายไปรษณียภัณฑ์ เพื่อตรวจสอบปัญหาการขาดทุนที่สูงถึง 350,000 ล้านบาท
ประเคนผลสอบทุจริตถึงมือคลัง
อย่างไรก็ตาม หลังจากการบินไทยแปรสภาพจากเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชนแล้ว กระทรวงคมนาคมจึงหมดหน้าที่ และได้ส่งต่อเอกสารที่ได้ตรวจสอบไปแล้วประมาณ 43 วัน หรือมีปริมาณครึ่งหนึ่งของเอกสารที่ได้รับทั้งภายนอกและภายในให้กับนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ช่วยพิจารณาเพิ่มเติม “ก็แล้วแต่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างไร โดยหลักแล้ว ป.ป.ช.จะเป็นผู้ตรวจสอบ แต่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จะเป็นผู้ดำเนินการในขั้นตอนแรกๆ”
สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้น ทางกระทรวงคมนาคมพบว่า มีการทุจริตใน 2-3 ประเด็นหลัก โดยเรื่องแรก คือ การจำหน่ายตั๋ว พบว่ามีการขายต่ำกว่าต้นทุน เนื่องจากเป็นการขายแบบเร่งด่วนและมีโปรโมชันขายถูก เพื่อให้ที่นั่งเต็ม ทำให้เกิดภาวะขาดทุนมหาศาล คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งการขายตั๋วที่ต่ำกว่าทุนนี้ มีเรื่องของผลตอบแทนจากการขายตั๋วเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการทำงานล่วงเวลา (โอที) ของฝ่ายช่าง ซึ่งพบว่าพนักงาน ถึง 200-300 คน เบิกโอทีถึง 2,000-3,000 ชั่วโมง คิดเป็นเงิน 500-600 ล้านบาท ซึ่งตามปกติแล้วไม่ควรเกิน 1,500 ชั่วโมงต่อปีตามกฎหมายแรงงาน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายเงินเดือนโดยรวมของฝ่ายช่างอยู่ที่ประมาณ 2,400 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านโอทีก็สูงถึง 2,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่โอทีจะสูงขนาดนี้ “ส่วนเรื่องการซื้อเครื่องบิน Airbus 340 มูลค่าเป็นแสนล้าน ซึ่งสร้างความเสียหายตั้งแต่ตอนซื้อจนถึงการบำรุงรักษา รวมถึงมูลค่าที่ด้อยลงในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้จอดทิ้งที่สนามบินอู่ตะเภาจำนวน 9 ลำนั้น หลักฐานที่มีสามารถเอาผิดได้ แต่เราไม่มีอำนาจ จึงไม่สามารถเปิดเผยได้”
บริษัทลูกบินไทยเลิกจ้าง 2,600 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค.63 ที่ผ่านมา นายโอม พลาณิชย์ กรรมการ และรักษาการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ได้ลงนามในประกาศเลิกจ้างพนักงาน โดยระบุว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ธุรกิจสายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่นเดียวกับบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่งแรงงานให้แก่สายการบินในประเทศไทย โดยผู้ว่าจ้างแรงงานหลักคือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขณะนี้ประสบปัญหาต้องหยุดทำการบินและอยู่ในขั้นตอนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลาง ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ถึงการกลับมาว่าจ้างแรงงานของผู้ว่าจ้าง และยังไม่มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะมีการว่าจ้างแรงงานในอนาคตเมื่อใด และจำนวนเดิมหรือไม่ จึงได้มีประกาศให้หยุดงานเพราะเหตุจำเป็น มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2563
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประกาศเลิกจ้างครั้งนี้ ทำให้พนักงานบริษัทวิงสแปนฯ ประมาณ 2,600 คน ถูกเลิกจ้างและตกงานทันที โดยบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นบริษัทลูกที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดตั้งขึ้น โดยถือหุ้นในสัดส่วน 49% (หุ้นสามัญ) และบริษัท ครัวการบินภูเก็ต จำกัด (PACCO) โดยมีผู้แทนของบริษัทการบินไทยฯ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ ปัจจุบันการบินไทยมีการจัดจ้างบริษัททั้ง 2 ให้ทำหน้าที่รับจ้างดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับบริการ ที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทาง เช่น ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้น (กราวน์เซอร์วิส) ฝ่ายครัวการบิน ฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น ฝ่ายช่าง ฝ่ายคาร์โก้ เป็นต้น
ครึ่งปีแรกนกแอร์ขาดทุน 3,700 ล้านบาท
วันเดียวกัน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 63 มีผลขาดทุน 787.21 ล้านบาท ขาดทุนลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 796.41 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้รวม 1,544.9 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 3,020.5 ล้านบาท
สำหรับงวดรวม 6 เดือนแรก บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนรวม 3,750.61 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุน 1,187.70 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้รวม 3,367.6 ล้านบาท ลดลง 47.96% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 6,470.76 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 5,925.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.84% จากสิ้นปี 62
อย่างไรก็ตาม ผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินได้ เนื่องจากบริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ประกาศขึ้นเครื่องหมาย “SP” ห้ามการซื้อขายหุ้น NOK ตั้งแต่การซื้อขายรอบเช้าวันที่ 1 ก.ย.63 และจะขึ้นเครื่องหมาย “NP” ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.63.