ศบศ.ผ่าตัด “เราเที่ยวด้วยกัน” เพิ่มที่พักเป็น 10 คืน-ตั๋วเครื่องบิน 2,000 บาท

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ศบศ.ผ่าตัด “เราเที่ยวด้วยกัน” เพิ่มที่พักเป็น 10 คืน-ตั๋วเครื่องบิน 2,000 บาท

Date Time: 20 ส.ค. 2563 08:00 น.

Summary

  • ศบศ.นัดแรกรับลูก ททท. รื้อโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพิ่มสิทธิ์ที่พักจากคนละ 5 คืน เป็น 10 คืน พร้อมเพิ่มตั๋วเครื่องบินจาก 1,000 บาทเป็น 2,000 บาท

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

ศบศ.นัดแรกรับลูก ททท. รื้อโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพิ่มสิทธิ์ที่พักจากคนละ 5 คืน เป็น 10 คืน พร้อมเพิ่มตั๋วเครื่องบินจาก 1,000 บาทเป็น 2,000 บาท หลังโครงการฝืด พร้อมดึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เข้าร่วม ตั้ง “สมิทธ์ พนมยงค์” เป็นโฆษกศูนย์ ศบศ. “สุพัฒนพงษ์” เผย ครม.สัญจร ได้เห็นแนวทางจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) นัดแรก พร้อมกับนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายสมิทธ์
พนมยงค์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากการชักชวนของนายสุพัฒนพงษ์ ที่ระบุว่าเคยทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยกันมาก่อน และเป็นรุ่นน้อง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ศบศ.เห็นชอบมาตรการเร่งด่วน เพื่อนำเสนอเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.ระยอง วันที่ 25 ส.ค.นี้ ในการปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน และการแก้ปัญหาการว่างงาน โดยมอบให้กระทรวงแรงงาน นำเสนอรายละเอียดของความต้องการแรงงานในภาพรวม มีเป้าหมายให้เกิดการจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง รองรับคนตกงานและนักศึกษาจบใหม่ สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อจากนี้มองว่าจะค่อยๆดีขึ้น หากทำให้ไม่ติดลบมากเท่ากับที่ สศช.คาดว่าติดลบ 7.5% ถือว่าดีมากแล้วและ เศรษฐกิจปีหน้าจะไม่ติดลบอีก เพราะปีนี้ติดลบมาก ขณะที่เป้าหมายการทำงานคือให้การบริโภคดีขึ้น มีการจ้างงาน ส่วนการลงทุน จะขอความร่วมมือบริษัทจดทะเบียน ที่ผลประกอบการยังดี เข้ามาช่วยเหลือประเทศ

“ศบศ.จะเป็นกลไกในการทำงาน ด้าน เศรษฐกิจของรัฐบาล และไม่ได้ดูเรื่องการทำงานเชิงรับและแก้ปัญหาอย่างเดียว แต่ต้องดูในส่วนของแผนปานกลางและระยะยาว ทางเศรษฐกิจ สิ่งที่นายกรัฐมนตรี อยากเห็นมากที่สุด คือหลังจากพ้นวิกฤติโควิด-19 เรายังเข้มแข็งเติบโตต่อไปได้ ภายใต้อุตสาหกรรมใหม่ๆ และจะมีการปรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ให้สอดคล้องกับทิศทางหลังโควิด -19 ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ศบศ. รับไปดูเรื่องนี้ และยังต้องสำรวจความเห็นของนักลงทุนต่างชาติ ว่ามองประเทศไทยเป็นอย่างไร”

ด้าน นายสมิทธ์ กล่าวว่า ศบศ.ได้เห็นชอบปรับปรุงมาตรการ เราเที่ยวด้วยกัน ที่ปัจจุบันมีการใช้สิทธิ์ไปเพียง 664,000 คืน จากทั้งหมด 5 ล้านคืน จึงเสนอให้ขยายสิทธิ์จากเดิมคนละ 5 คืน เป็น 10 คืน และขยายการสนับสนุนตั๋วเครื่องบินในการเดินทางจาก 1,000 บาทต่อคน เป็น 2,000 บาทต่อคน เพื่อกระตุ้นการเดินทางระยะไกลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะปรับปรุงรายละเอียดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเข้าร่วมโครงการนี้ โดยรัฐบาลจะร่วมจ่ายค่าที่พักให้ 40%

“ศบศ.ได้รับทราบมาตรการดูแลสภาพคล่อง ของเอสเอ็มอี ที่ ครม.ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ส.ค. เชื่อว่าจะมีการปล่อยสินเชื่อออกไปมากขึ้นเพราะมีการกำหนดคำนิยามผู้ขอสินเชื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น ช่วยให้เจ้าหน้าที่ธนาคารกล้าอนุมัติ ส่วนการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาค้ำประกันในปีที่ 3-8 ซึ่งพ้นจากเงื่อนไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ยอมปล่อยกู้มากขึ้น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า กรณีที่มีข้อวิจารณ์ว่า วงเงินสินเชื่อซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาท ปล่อยออกไปไม่มาก คาดว่าหลังจากผ่อนคลายเรื่องการค้ำประกันนี้ จะทำให้มีการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และผู้ประกอบการมีเวลาการขอสินเชื่อได้ถึง 2 ปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ