นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ศูนย์ได้ประเมินว่าในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ถึงไตรมาส 1 ปี 2564 ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปลดคนงาน 1-2 ล้านคน เพราะโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจจำนวนมากขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใช้ยาแรง ด้วยการใช้งบอย่างน้อย 400,000-600,000 ล้านบาท ทั้งที่เป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจ งบขาดดุลงบประมาณ งบค้างท่อ เพื่อพยุงไม่ให้ธุรกิจต้องปิดกิจการ หรือปลดคนงาน
สำหรับผู้ที่ทยอยถูกเลิกจ้างงาน หรือกลุ่มที่รายได้จากอาชีพอิสระลดลง คาดว่ามี 10,000-50,000 คน ได้เปลี่ยนมาขายสลากกินแบ่งรัฐบาล (ลอตเตอรี่) มากขึ้น เห็นได้จากความต้องการสลากต่องวดสูงถึง 200 ล้านฉบับ แต่สำนักงานสลากพิมพ์ขายให้ตัวแทน 160,000 คนประมาณ 100 ล้านฉบับ ส่งผลให้ผู้ที่ตกงานต้องมารับซื้อสลากจากผู้ที่ได้โควตาในราคาแพง หรือเกือบ 80 บาทต่อใบแล้ว ทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นเป็น 90-100 บาทต่อใบ จากราคาที่สำนักงานสลากกำหนดที่ไม่เกิน 80 บาทต่อใบ
“ผมทราบว่าผู้ตกงาน คนขับวินมอเตอร์ไซค์และแท็กซี่ หันมาหารายได้เสริมจากการขายลอตเตอรี่จำนวนมาก เพราะหากไปขายสินค้าตามตลาดก็ยากมาก ซึ่งผลของจำนวนผู้ขายมีมาก ทำให้ความต้องการสลากสูงขึ้น และเป็นเหตุให้ราคาแพง แต่ผู้ค้าหลายรายเจ๊ง เพราะในระยะหลัง บางงวดขายไม่หมด จึงเป็นที่มาของการรื้อโควตาสลากใหม่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณารายชื่อและตัดสิทธิ์นายหน้าที่ได้โควตาด้วย”
ทั้งนี้ จากการสอบถามเอสเอ็มอีพบว่า ส่วนใหญ่ไม่ต้องการปลดพนักงาน หากสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 500,000 ล้านบาทได้ จึงเป็นหน้าที่ของทีมเศรษฐกิจที่จะหามาตรการผ่อนคลายเงื่อนไขต่างๆ หรือให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อเพิ่ม เพื่อทำให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีมากขึ้น หากรวมกับมาตรการที่เข้มข้นและการปล่อยซอฟต์โลน อาจทำให้แรงงานไม่ตกงานถึง 2 ล้านคนได้ และยังต้องการให้รัฐบาลแก้กฎหมายให้สามารถจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้จากปัจจุบันบังคับจ้างงานรายวัน.