"ฮอนด้า" เผยยอดขายรถยนต์ครึ่งแรกปี 2563 ผ่านจุดต่ำสุดจากการระบาดของโควิด-19 ในเดือน เม.ย. มาแล้ว โดยยังครองอันดับ 1 ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล คาดตลาดรถยนต์ปี 2563 ต่ำล้าน อยู่ที่ 6.8 แสนคัน
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และฮอนด้า ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์จะสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจภาพรวม ส่วนการฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจในประเทศนั้น ยังขึ้นอยู่กับการระบาดของโควิด-19 ที่แม้ในประเทศจะดี แต่ทั่วโลกยังไม่นิ่ง
ทั้งนี้ กรณีของอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังซื้อในประเทศยังไม่ดีขึ้น คนตกงาน ภาพรวมเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางตกมาก่อนแล้ว เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ยิ่งได้รับผลกระทบรุนแรง ภาพรวมกำลังซื้อยังไม่กลับมา แต่กำลังซื้อ ยอดขายรถยนต์ในประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้นบ้าง เป็นกำลังซื้อที่อันมาจากช่วงล็อกดาวน์และอีกสาเหตุคือ ซื้อรถยนต์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทำให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์ ทำให้กำลังซื้อเหมือนกลับมา ซึ่งต้องดูไปอีกระยะ
นายพิทักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับยอดขายของฮอนด้าช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 41,326 คัน หรือคิดเป็น 29.2% ของตลาดรวม สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในตลาดรถยนต์นั่ง จากยอดขายรวมรถยนต์นั่ง 141,366 คัน ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ ฮอนด้า ซีวิค ฮอนด้า เอชอาร์-วี และ ฮอนด้า ซีอาร์-วี ใหม่ ยังคงเป็นรถยนต์ยอดนิยม และครองตำแหน่งผู้นำในกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มดีขึ้น คาดว่า ตลาดรถยนต์โดยรวมในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 680,000 คัน ส่วนยอดขายรวมทั้งตลาดในครึ่งปีแรก 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้วยยอดขายรถยนต์รวม 325,773 คัน หรือลดลง 38.7% เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรวม ที่มียอดขาย 141,366 คัน หรือลดลง 41.8%
นายพิทักษ์ กล่าวอีกว่า ยอดขายรถยนต์ฮอนด้าในครึ่งแรกของปี 2563 ช่วงเดือน มี.ค.และ เม.ย. ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง โดยเฉพาะเดือน เม.ย. เป็นจุดต่ำสุด มียอดขายต่ำสุด แต่ล่าสุด มีทิศทางที่ดีขึ้นด้วยยอดขายเริ่มฟื้นกลับขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. ถือว่าเร็วกว่าคาดการณ์เมื่อช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง ช่วงนี้ลูกค้าบางส่วนที่เคยชะลอซื้อเริ่มกลับมาตัดสินใจซื้อ ผนวกกับภาครัฐมีมาตรการผ่อนปรนในการควบคุมโควิด-19 ตลอดจนมีแผนฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยออกมา คาดว่า จากปัจจัยเหล่านี้จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม และทำให้ความต้องการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น
ขณะที่แผนการตลาดช่วงครึ่งปีหลังปี 2563 นั้น ฮอนด้าปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใน 3 ด้าน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคใหม่ คือ 1. ด้านการขายและการตลาด เพิ่มความเข้มข้นด้านการตลาดออนไลน์ โดยใช้บิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานหลายด้าน 2. ด้านการบริการหลังการขาย พร้อมสร้างคุณค่าของงานบริการแบบใหม่ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าการดูแลรถยนต์เป็นเรื่องง่าย และสามารถเลือกรับบริการได้ในรูปแบบที่ต้องการ 3. ด้านดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน สร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งของทั้งองค์กร โดยนำดิจิทัล เทคโนโลยีมาใช้ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด และเพื่อมอบประสบการณ์น่าประทับใจให้กับลูกค้า
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า กล่าวต่อว่า ช่วงครึ่งปีหลัง 2563 โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ทิศทางตลาดของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงต้นปี แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะตลาดยังมีความอ่อนไหวหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งอาจทำให้ประชาชนกลับมาระมัดระวังการใช้ชีวิตและการใช้เงินอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ฮอนด้ายังคงยึดแผนเดิมการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ส่วนแผนรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้านั้นยังคงเป็นไปตามวิสัยทัศน์ฮอนด้า 2030