"จุรินทร์" นำพาณิชย์-เกษตรฯ พบ "เกษตรกรผู้ผลิตผู้ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป" ร่วมกำหนด 10 มาตรการเชิงรุก จับมือเอกชนบุกตลาดโลก โปรโมตอาหารไทยนำรายได้เข้าประเทศช่วยเกษตรกร
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 เม.ย.63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมร่วมกับเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาช่วงสถานการณ์โควิด หน้าโรงงานเทพผดุงพร พุทธมณฑลสาย 4 พร้อมกล่าวว่า วันนี้เป็นการ "พลิกโควิดเป็นโอกาส" ของกระทรวงพาณิชย์ ในการที่เดินทางไปพบกับเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจแปรรูป ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกในทุกภาคส่วน และทุกภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางที่จะเดินหน้า เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ และช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นห่วงโซ่การผลิตต้นทาง
"วันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางมาหารือร่วมกันกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป และเกษตรกรที่เกี่ยวข้องผู้เข้าร่วมหารือประกอบด้วยสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ประธานกลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเล ประธานกลุ่มผัก-ผลไม้ ประธานกลุ่มเครื่องปรุงรส กลุ่มสับปะรด ข้าวโพดหวาน และเกษตรกรจากจังหวัดสมุทรสงครามราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมหารือด้วยรวมทั้งมีกลุ่มอุตสาหกรรม" นายจุรินทร์กล่าวและว่า สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปและแปรรูปของประเทศตัวเลขเมื่อปี 2562 มูลค่ารวมกัน 870,000 ล้านบาท ปริมาณการผลิตทั้งหมดใช้บริโภคในประเทศร้อยละ 84 ส่งออกร้อยละ 16 สำหรับการส่งออกปีที่แล้วมูลค่า 579,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.6 ของการส่งออกรวมทั้งหมด อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปและแปรรูปของประเทศไทยนั้นถือเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 10 ของโลก อย่างไรก็ตามก็มีสินค้าที่เราส่งออกเป็นลำดับ 1 ของโลกอยู่สามตัวด้วยกัน ประกอบด้วยสับปะรดกระป๋อง มะพร้าวกะทิ และข้าวโพดหวานกระป๋อง สามตัวนี้เราส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก
รมว.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับไตรมาสแรกของปีนี้การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปและแปรรูปของประเทศไทยนั้นได้ส่งออกแล้วเป็นมูลค่า 137,756 ล้านบาท สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการส่งออกประกอบด้วยอาหารทะเลสำเร็จรูปอาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์กะทิ และข้าวโพดหวาน อย่างไรก็ตามจากการหารือร่วมกันในวันนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เราจะร่วมมือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และภาคเกษตรกรรวม ทั้งผู้ประกอบการส่งออก แปรรูป เพื่อกำหนดมาตรการที่จะเดินไปข้างหน้าในช่วงวิกฤติโควิด และหลังวิกฤติโควิด ประกอบด้วย 10 มาตรการในภาพรวม
มาตรการที่ 1 ในภาวะวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและในโลก เรามีความเห็นร่วมกันว่า ถือเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ และเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่เราจะได้รับมือจับมือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนในการทำประชาสัมพันธ์และทำการส่งเสริมการขายสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดโลกกับผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศไทย ซึ่งจะเดินหน้าไปด้วยกันในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำคลิปขึ้นมา 10 ภาษา เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์อาหารไทยในการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์แก่สายตาชาวโลก
มาตรการที่ 2 ทูตพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะจะต้องประชุมออนไลน์ร่วมกับภาคเอกชนในภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งภาคธุรกิจอาหารสำเร็จรูปด้วยทุกเดือนถ้าเป็นไปได้ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน มาตรการที่ 3 จากกำหนดแผนงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ในการทำแผนเปิดตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและอาหารแปรรูป โดยเฉพาะเพื่อช่วยให้ SME ได้มีโอกาส โดยเฉพาะตลาดสำคัญหนึ่งตลาดอาเซียน สองกลุ่มประเทศเอเชีย สามกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง สี่กลุ่มประเทศรัสเซีย และประเทศที่แตกออกมาจากรัสเซีย
มาตรการที่ 4 กระทรวงพาณิชย์กับเอกชนจะร่วมมือกันเร่งรัดในการเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรของประเทศอังกฤษต่อไปโดยเร็ว มาตรการที่ 5 กระทรวงพาณิชย์ควรได้มีการจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพในการเป็นช่องทางระบายสินค้าด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรรวมทั้งผู้ผลิตแปรรูปและผู้ส่งออกได้อย่างเป็นรูปธรรม มาตรการที่ 6 จะเร่งรัดแก้ไขปัญหาในเรื่องของการขนส่งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปในเรื่องของการขนส่งในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะอากาศทางเรือทางบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้การส่งออกสินค้าทางบกผ่านเวียดนามและลาวไปจีนก็ยังติดขัด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับกระทรวงเกษตรในการเร่งรัดดำเนินการเหล่านี้โดยเร็วต่อไปรวมทั้งในส่วนของด่านไทยมาเลเซียที่ด่านนอกสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้จะเดินทางไปด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันการขนส่งทางบกสินค้าไปจีนอีกช่องทางหนึ่งก็คือช่องทางบริเวณด่านตงซิง ซึ่งตนได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเปิดด่าน ถ้าเปิดด่านได้จะช่วยระบายสินค้าไปยังจีนได้สะดวกขึ้น
มาตรการที่ 7 จะใช้กลไกเกษตรพันธสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น มาตรการที่ 8 กระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนจะช่วยกันส่งเสริมการบริโภคน้ำผลไม้ 100% ของไทย ซึ่งยังติดปัญหาอุปสรรคบางประการในเรื่องของภาษีสรรพสามิตที่ยังกำหนดเก็บภาษีในรูปแบบภาษีความหวาน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และเอกชนไม่ได้ขัดข้องในประเด็นนี้ แต่เห็นว่ากรมสรรพสามิตควรจะได้ปรับปรุงทบทวนในเรื่องของความหวานที่เกิดจากผลไม้ธรรมชาติจริงๆ เพื่อส่งเสริมการดื่มน้ำผลไม้ของไทยให้มากขึ้นโดยไม่ไปเก็บหรือเพิ่มภาษีความหวานในส่วนของน้ำผลไม้ธรรมชาติ มาตรการที่ 9 กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการใช้ห้องเย็นที่มีอยู่ 600 กว่าแห่งในประเทศไทยให้เป็นประโยชน์ในการชะลอพืชผลทางการเกษตรสำคัญที่จะออกสู่ตลาดและมีผลกระทบทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำให้มากขึ้น สุดท้าย มาตรการที่ 10 ขณะนี้การส่งออกสับปะรดกระป๋องที่เราส่งออกไปลำดับหนึ่งของโลกไปออสเตรเลียมีปัญหาในเรื่องของการตั้งกำแพงภาษีค่อนข้างสูง กับการส่งออกข้าวโพดหวานกระป๋องที่เราส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปก็มีการตั้งกำแพงภาษีค่อนข้างสูงก็จะมอบหมายให้พูดพาณิชย์ของเราเร่งเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหานี้ต่อไป เพื่อจะได้ทำตัวเลขส่งออกให้มากขึ้นและนำรายได้เข้าประเทศในช่วงนี้ "นี่คือ 10 มาตรการที่จะจับมือร่วมกันเดินหน้าต่อไป และช่วยชาวเกษตรกรได้ในที่สุด" นายจุรินทร์ กล่าว.