นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส (Krungthai COMPASS) ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจรีไซเคิลขยะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.7% จากมูลค่าปี 62 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 170,000 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจรับซื้อของเก่าและวัสดุรีไซเคิล มีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์และเข้าข่ายเป็นธุรกิจรีไซเคิลมีจำนวนกว่า 3,484 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้บริการแบบครบวงจร และผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจแบบเดี่ยว และมีกิจการรูปแบบแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก
“จากการศึกษาพบว่าใน 5 ปีข้างหน้า ตลาดรีไซเคิลของไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.7% สร้างรายได้กว่า 224,000 ล้านบาท ภายในปี 67 หรือคิดเป็น 1.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG Model) ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งภาครัฐตั้งเป้าหมายลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2570 ทั้งหมดนี้ สร้างความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและกระตุ้นความต้องการวัสดุรีไซเคิลในกระบวนการผลิต
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญอยู่ที่การไม่คัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่วนนี้รีไซเคิลแพลตฟอร์มจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ขายและผู้รับซื้อขยะรีไซเคิล นำไปสู่การหมุนเวียนของขยะรีไซเคิลในวงจรเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่การนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆเพื่อต่อยอดบริการ โดยรีไซเคิลแพลตฟอร์มช่วยลดค่าใช้จ่ายการกำจัดขยะลง 20-30% ลดค่าใช้จ่ายการเดินรถและเก็บขนขยะลง 50%
“ในไทยขยะที่ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกต้องและยังไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะพลาสติกที่แต่ละปีมีการทิ้งเป็นขยะถึง 2 ล้านตัน แต่มีเพียง 25% ที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ ดังนั้น หากสตาร์ตอัพไทยที่กำลังพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มนำโมเดลต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ เชื่อว่าธุรกิจจัดการขยะรีไซเคิลด้วยดิจิทัล แพลตฟอร์มของไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้ รีไซเคิลแพลตฟอร์มในไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการขยายฐานผู้ใช้บริการ และสามารถพัฒนา ความร่วมมือกับภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก.