นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงการส่งออกอาหารปี 2562 และเป้าหมายปี 2563 ที่จัดทำข้อมูลโดย 3 องค์กร ประกอบด้วย สถาบันอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่า ระหว่าง 1,022,610-1,061,000 ล้านบาท โดยความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นในทุกตลาดทั่วโลก กลุ่มที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัว ได้แก่ ข้าว ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง เครื่องปรุงรส มะพร้าว สับปะรด และอาหาร พร้อมรับประทาน ส่วนที่คาดว่าจะลดลง คือ น้ำตาลทราย
สำหรับปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปีนี้ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่จะค่อยๆฟื้นตัว และจีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหาร จำพวกเนื้อสัตว์มากขึ้น หลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร รวมทั้งความไม่แน่นอนกรณีที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่ชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์ เงื่อนไขการค้า อาจทำให้สินค้าไทยมีโอกาสส่งออกไปตลาดอียูมากขึ้น
ขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารไทย มาจากปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรและวัตถุดิบในประเทศลดลง ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น และจะกระทบไปยังต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและสินค้าอาหารของไทยบางรายการ ทำให้ราคาสูงขึ้น แข่งขันในตลาดโลกได้ลำบาก และยังได้ รับผลกระทบจากการถูกสหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจำพวกพาสต้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกี๊ยว รวมทั้งภัยคุกคามจากการขยายตัวของสินค้าอาหารที่ผลิตจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ ที่มีต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเล.