“ศักดิ์สยาม” ไฟเขียวการบินไทย จัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้านบาท ตั้งโต๊ะขายของทั้งเปิดให้เช่าเครื่องบิน พร้อมกัปตัน ลูกเรือเพื่อลดต้นทุนการบริหาร, ให้เอกชนเช่ารางรถไฟของ รฟท.ช่วงที่ไม่มีการเดินรถปกติเพื่อ ขนส่งสินค้าเพิ่มรายได้ ก่อนขยายวงกว้างไปยังธุรกิจ บขส.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยเรื่องการจัดหาเครื่องบินตามแผนจำนวน 38 ลำ วงเงิน 156,000 ล้านบาทของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ตนไม่ขัดข้องและได้ให้นโยบายแก่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย โดยให้ไปสรุปแนวทางมาให้ชัดเจน เรื่องการจัดหาแบบซื้อ, เช่า และแนวทางการเช่าเครื่องบิน การบริการภายในเครื่องบินทั้งลำ รวมถึงนักบิน ลูกเรือ หากแนวทางใดสามารถดำเนินการได้ ให้เปรียบเทียบมาให้ชัดเจน ทั้งรูปแบบ และ งบประมาณ ว่าแตกต่างกันอย่างไรในระยะยาว หากดำเนินการตามแนวทางนั้นๆ และแนวทางการจัดหาที่พิจารณามาเสนอ ต้องสอดคล้องกับฐานะการเงิน และเส้นทางการบินที่จะมีการปรับปรุง เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ก็ให้เสนอ คณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย
“ผมเห็นว่า แนวทาง การจัดหาเครื่องบินของการบินไทย แบบการเช่า รวมทั้งเครื่องบิน กัปตัน ลูกเรือ จะสามารถคุมต้นทุนการบริหารจัดการได้ จึง ขอให้ฝ่ายบริหารไปพิจารณา รูปแบบจากสายการบินประเทศอื่นๆที่ดำเนินการและประสบความสำเร็จมาแล้ว ว่ามีสายการบินใดบ้าง แต่หากแนวทางนี้ ไม่สอดคล้องกับการบินไทย ก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นแนวทางอย่างอื่นได้”
กรณีที่มีรัฐวิสาหกิจอื่นๆที่อยู่ในขั้นตอน เข้าไปสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตนมองว่า สามารถหาแนวทางใหม่ๆในการเพิ่มรายได้ เช่น เปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาเสนอแผนเพื่อ เช่ารางรถไฟในการขนส่งสินค้า ในช่วงเวลาที่รถไฟ ไม่มีการใช้ราง ซึ่ง รฟท.ต้องตรวจสอบตารางการใช้รางรถไฟ รวมถึงความถี่ของระบบอาณัติสัญญาณของการใช้รางว่ามีเวลาช่วงเวลาใดทำอะไรได้บ้าง หากทำได้ รฟท.ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเช่าราง และเป็นวิธีที่ มีความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากในอนาคต รฟท.จะมีการทางคู่เพิ่มขึ้น ปัญหาการจอดเพื่อรอสับหลีกก็จะลดลง
ขณะที่กรณีที่มีหลายๆฝ่ายกังวลว่า จะเกิดกระแสคัดค้านจากพนักงาน และ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ตนมองว่า รฟท.สามารถพิจารณาเส้นทางการใช้รางว่าเส้นทางใด รฟท.จะเก็บไว้วิ่งให้บริการ และขนส่งสินค้าก่อนที่จะมีการจัดสรรให้เอกชน เพราะสามารถเลือกเส้นทาง ที่สร้างรายได้และเกิดกับประโยชน์กับองค์กรไว้ได้ก่อนอยู่แล้ว ส่วนเอกชนมาเช่ารางให้บริการ ก็เป็นช่วงเวลาที่ รฟท. ไม่ได้ใช้ราง
“การเปิดให้เช่าระบบขนส่ง เป็นการต่อยอดแนวคิด จากการฟื้นฟูกิจการ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่จะใช้แนวทางการเช่ารถเมล์ เพื่อจ่ายเงิน ตามระยะทางการใช้งานจริง 2,511 คัน เพื่อช่วยลดต้นทุนในการจัดหารถเมล์ และต้นทุนการบำรุงรักษาในระยะยาวได้ เพื่อขยายผลไปถึงการจัดหารถโดยสารให้บริการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่พบว่าการให้เช่ารถพร้อมคนขับ ช่วยลดต้นทุนการดำเนินการลงได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานว่า ผลการศึกษามีความเหมาะสม ที่จะนำไปดำเนินการได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเช่า เครื่องบิน ในลักษณะเช่ารวม ทั้งเครื่องบิน กัปตัน ลูกเรือ บริษัทการบินไทย ต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย จะขัดกับกฎหมายประกอบอาชีพของคนต่างด้าวหรือไม่ โดยเฉพาะ อาชีพ นักบิน, ลูกเรือเป็น อาชีพที่ยังสงวนไว้ให้กับคนไทย หรือไม่ ฯลฯ.