นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือผลกระทบจากนโยบายการเลิกใช้ถุงพลาสติก ร่วมกับห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ว่า ภายหลังจากวันที่ 1 ม.ค.63 ที่รัฐบาลมีนโยบายเลิกใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวนั้น ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงผู้ค้าอื่นๆ ได้งดให้ถุงพลาสติก ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนได้รับผลกระทบบ้าง เพราะบางรายไม่ได้เตรียมถุงผ้าติดตัวไปด้วย อย่างไรก็ตาม ได้ขอความร่วมมือให้ห้างต่างๆอำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยให้จัดหาถุงผ้ามาให้ประชาชน ถ้าไม่ให้ฟรีก็ขอความร่วมมือให้ขายในราคาต้นทุน พร้อมกับขอความร่วมมือให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติมาเป็นภาชนะบรรจุสินค้า หรืออาหารภายในห้างด้วย เช่น กระบอกไม้ไผ่ ใบตอง บรรจุภัณฑ์จากมันสำปะหลัง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แต่ละห้างได้เตรียมแผนรองรับกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนไป โดยบางห้างนำถุงพลาสติกที่สลายได้ ถุงผ้า ถุงพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำ มารองรับการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมถึงให้ลูกค้ายืมแล้วนำมาคืนในการซื้อครั้งต่อไป หรือจำหน่ายให้กับลูกค้าในราคาต้นทุนอยู่แล้ว
“บางห้างยังอำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยมีบริการกล่องกระดาษ หรือถุง รถเข็น ให้กับลูกค้า หรือลูกค้าที่มีถุงผ้ามาเองก็จะมีโปรโมชันการให้คะแนนเพื่อนำไปใช้สิทธิ์ต่างๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้า อย่างไรก็ตาม หากห้างไม่มีแหล่งซื้อถุงที่สลายได้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถประสานมาที่กรมได้ พร้อมจะประสานแหล่งผลิต เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ผลิตสินค้าเหล่านี้”
สำหรับพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับตัวเชื่อว่าเมื่อประชาชนปรับตัวได้แล้ว ความรู้สึกของประชาชนจะดีขึ้น จากขณะนี้บางรายอาจเกิดความไม่พอใจบ้าง เพราะไม่ได้เตรียมถุงผ้าไปด้วย
ขณะที่ตัวแทนเซ็นทรัลกรุ๊ป ระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ทั้งห้างเซ็นทรัล โรบินสัน ฯลฯ มีถุงพลาสติกที่ใช้ซ้ำได้มากกว่า 200 ครั้งมาคอยให้บริการลูกค้า รวมถึงมีรถเข็น ถุงผ้าที่ยืมได้ หรือถุงกระดาษ แต่ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะถุงพลาสติกมีต้นทุนใบละ 2-6 บาท แต่ถุงกระดาษมีต้นทุนมากกว่า 5-6 เท่า แต่ห้างก็ต้องยอมใช้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม.