การเลิกจ้าง ปิดกิจการในปีนี้ เป็นปัญหาทางสังคม ที่เกิดจากผลกระทบจาก เศรษฐกิจขาลง โดยเฉพาะปัญหาที่จะส่งผลกระทบถึง ผู้ใช้แรงงาน ทั้งที่เป็นคนไทย และต่างด้าว โดย กระทรวงแรงงาน ที่มี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นเจ้ากระทรวงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับ วิกฤติของผู้ใช้แรงงานในปีนี้ ให้ดีที่สุด
โดยเฉพาะ ประเทศไทย ถูกจับตาจาก องค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรสากลที่ดูแลเรื่องของการ ละเมิดสิทธิเด็ก เยาวชน สตรี ผู้ใช้แรงงานต่างด้าว ค่อนข้างจะเข้มงวด อันจะส่งผลต่อการค้าการส่งออก และสินค้าชนิดต่างๆ รวมถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน
ยกตัวอย่าง สินค้าอาหารประมงที่ถูกเฝ้าระวังจากปัญหาการใช้แรงงานเด็ก สตรีและแรงงานต่างด้าว หรือบางประเทศเริ่มที่จะไม่นำเข้าสินค้าประเภทหนังสัตว์ เป็นต้น
กระทรวงแรงงานโดย ม.ร.ว.จัตุมงคล ได้มอบนโยบายเรื่องของ การคุ้มครองการทำงานของลูกจ้างต่างด้าว ให้มีความเท่าเทียมกับแรงงานไทย เช่น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากไซต์การทำงานก่อสร้างที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ล้มทับคนงานต่างด้าวเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ กระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ สำนักงานประกันสังคม โดย ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เข้าไปเยียวยาทันที
ซึ่ง สำนักงานประกันสังคม จ. สาขาบางพลี ลงตรวจสอบที่เกิดเหตุอย่างละเอียด และเข้าให้การช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.เงินชดเชย พ.ศ.2537 ในกรณีที่ ลูกจ้างเสียชีวิต ทายาทมีสิทธิได้รับ ค่าทำศพ 33,000 บาท ค่าทดแทนกรณีเสียชีวิต 1,310,400 บาท ซึ่งเท่าเทียมกับลูกจ้างที่เป็นแรงงานไทย
ส่วน ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บขาหัก มีสิทธิที่จะได้รับ ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง และ ค่าทดแทนการหยุดงานเดือนละ 10,920 บาท อย่างไรก็ตาม แม้กรณีดังกล่าว นายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนลูกจ้างแรงงานต่างด้าว เอาไว้ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ทาง สำนักงานประกันสังคม ได้ติดตามนายจ้างให้มาดำเนินการยื่นเอกสารให้ถูกต้องเพื่อขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนและมีการดำเนินคดีกับนายจ้างตามกฎหมายด้วย
ประเด็นนี้ทางสำนักงานประกันสังคมได้ฝากเตือนไปถึงบรรดานายจ้างให้ปฏิบัติตาม กฎหมายประกันสังคม และ กฎหมายเงินทดแทน อย่างเคร่งครัด เพราะถ้า สำนักงานประกันสังคม ตรวจสอบพบว่า นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะถูกดำเนินคดีลงโทษอย่างเด็ดขาด
เป็นไปตามนโยบายของ รมว.แรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่ได้มอบหมายให้การดูแลลูกจ้าง ผู้ประกันตนทุกคน ทุกเชื้อชาติ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการจ้างงานครบถ้วนตามกฎหมาย
อันจะเกิดประโยชน์กับลูกจ้างและนายจ้างเอง ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล หากไม่ปฏิบัติตาม นอกจากจะถูกลงโทษตามกฎหมายแล้วยังจะกระทบกับธุรกิจอุตสาหกรรมของนายจ้างที่จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจในยุคนี้.
หมัดเหล็ก