ประชาพิจารณ์ 5 จีเริ่มแล้ว 3 ค่ายมือถือ รวมแคท–ทีโอที แห่แหนคึกคัก แต่ยังกั๊กจะเข้าประมูลหรือไม่ “ทรู” พูดชัดสนใจแค่คลื่น 2600 MHz ส่วนคลื่นอื่นๆไม่สนใจ รุมแนะปรับเพดานการถือครองคลื่นสูงสุดใหม่ กำหนดที่ 100 เมกะเฮิรตซ์ สูงเกินไป เกรงแข่งกันเคาะทำให้ราคาสูงเกินจริง ด้าน “ฐากร” นอนยันเคาะประมูล 16 ก.พ.63 แน่ ไม่มีเลื่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) 1800 MHz 2600 MHz และ 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) เพื่อนำไปสู่ การให้บริการ 5 จี ในเดือน ก.ค.2563 เป็นต้นไป โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 12 ธ.ค. เพื่อรวบรวมเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณาและอนุมัติ เพื่อให้ประกาศมีผลบังคับใช้ในปลายเดือน ธ.ค.นี้ และเปิดประมูล เคาะราคาในวันที่ 16 ก.พ. 2563
สำหรับบรรยากาศการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งนี้เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยคลื่นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือคลื่น 2600 MHz เนื่องจากเป็นคลื่นที่มีการผลิตอุปกรณ์รองรับและมีการใช้งานในสหรัฐฯและจีนแล้ว ส่วนคลื่น 700, 1800 MHz และ 26 GHz ไม่มีการแสดงความคิดเห็นที่เป็นสาระสำคัญ โดยค่ายมือถือแต่ละรายยังไม่แสดงตัวชัดเจนว่าจะเข้าประมูลหรือไม่
ส่วนประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมาก คือการกำหนดเพดานการประมูลคลื่น 2600 MHz ที่ กำหนดไว้ว่าแต่ละรายสามารถประมูลได้ถึง 100 เมกะเฮิรตซ์นั้น ถือว่ามากเกินไป เนื่องจากคลื่นมีจำนวน 190 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น ถึงแม้จะแบ่งใบอนุญาตใบละ 10 เมกะเฮิรตซ์ก็ตาม จึงหวั่นเกรงว่าจะมีการเคาะราคาแข่งขันกันสูงมาก จนทำให้ราคาสูงเกินไปมาก เนื่องจากเป็นคลื่นที่ค่ายมือถือต้องการนำมาให้บริการ 5จี
โดยตัวแทนบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ให้ความเห็นว่าหาก กสทช.เปิดประมูล และไม่ได้ทบทวนเพดานการถือครองคลื่น เชื่อว่าจะมีการเคาะราคากันยาวนานกว่าครั้งที่ผ่านมาที่มีการเคาะราคา 4 คืน 5 วัน จึงขอแนะนำให้เปิดโรงแรมระดับ 5 ดาว เป็นสถานที่การประมูลแทน ขณะที่ค่ายบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด ขอให้นำคลื่น 2600 มาประมูลเพียงคลื่นเดียวเท่านั้น เพราะคลื่นอื่นๆไม่สนใจ
ส่วนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ขอให้ กสทช.แก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนก่อนการประมูล เพราะที่ผ่านมาประมูลเสร็จไปแล้ว ปัญหาคลื่นรบกวนยังคงอยู่ ส่วนบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ขอให้ทบทวนการกำหนดเพดานการถือครองคลื่น 2600 เพราะมากเกินไป เกรงว่าจะเกิดการแข่งขันเคาะราคากันรุนแรง ด้านบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขอให้ กสทช.แก้ไขกฎระเบียบให้ทีโอทีสามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วย
นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องคลื่น 3500 MHz ที่ค่ายมือถือให้ความสนใจและเรียกร้องให้ กสทช.นำมาประมูลในครั้งนี้ด้วย ประเด็นคลื่นรบกวนทั้งกับประเทศเพื่อนบ้านและที่กวนกันเอง ว่า กสทช.จะแก้ปัญหาอย่างไร นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ขณะนี้ยังยืนยันตามแผนเดิมว่า กสทช.จะเปิดประมูล 5จี ในวันที่ 16 ก.พ.2563 นี้แน่นอน ไม่มีอะไรมาทำให้ กสทช.เลื่อนประมูลหรือยกเลิกการประมูลได้
“กสทช.รับฟังทุกความเห็น อยากให้เสนอสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าส่งผลดี ก็ต้องทบทวนให้ แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็คงทำให้ไม่ได้เช่นกัน ส่วนคลื่น 3500 MHz นั้น กสทช.ประกาศชัดแล้วว่าจะนำมาประมูลแน่ปลายปี 2563 ที่ต้องรอไปก่อน เนื่องจากคลื่นดังกล่าวยังมีการใช้งานในกิจการดาวเทียมเพื่อให้บริการทีวีดาวเทียม โดยบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564 โดยปัจจุบันมีการใช้จานดำเพื่อดูทีวีดาวเทียมมากถึง 10 ล้านครัวเรือน จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการเยียวยาและขยับขยายการใช้คลื่น”.