นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยหลังเป็นประธาน การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) โครงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ระหว่าง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และกรมสรรพากร, กรมศุลกากร, กรมบัญชีกลาง, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่า กระทรวงจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้ยกระดับการทำงานในหน่วยงานต่างๆ นำร่อง 3 โครงการ คือ 1.การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (VAT Refunds for Tourists) ของกรมสรรพากร 2.ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government Procurement : e-GP) ของกรมบัญชีกลาง 3.การออมผ่านพันธบัตรรัฐบาล ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DLT Scripless Bond) สบน.
สำหรับโครงการการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้นักท่องเที่ยวเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรุงไทยฯนำระบบบล็อกเชนมาใช้คืนภาษี ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน เนื่องจากที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาขอคืนแวตปีละ 2 ล้านคน จากยอดมูลค่าการซื้อสินค้า 50,000 ล้านบาท โดยมียอดขอคืนภาษี 200,000 รายต่อเดือน จากสถิติส่วนใหญ่ เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน ขอคืนแวตสูงสุด 70% ของนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมด เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้เงินสด โดยจะเริ่มให้บริการแอปพลิเคชันดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.นี้
ขณะที่โครงการที่ 2 คือ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้กับระบบการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยลดขั้นตอนและการตรวจสอบ หลักประกันของผู้ประกอบการ โดยการใช้บล็อกเชนของ e-GP จะรวบรวมข้อมูลประวัติของผู้ประกอบการนิติบุคคล โดยข้อมูลในปีนี้ ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างรวม 3.6 ล้านโครงการ วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท เพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการ 270,000 ราย
โครงการที่ 3 คือ การออมผ่านพันธบัตรรัฐบาล ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ จะนำระบบบล็อกเชนมาใช้ เพื่อช่วยลดระยะเวลาในกระบวนการออกใบพันธบัตรทั้งหมด จากเดิม 15 วัน เหลือเพียง 2 วัน โดยรัฐบาลจะเริ่มออกพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาล ผ่านระบบบล็อกเชนในเดือน เม.ย.2563 จำนวน 5,000 ล้านบาท โดยสามารถซื้อได้ขั้นต่ำ 1,000 บาทขึ้นไป โดยกระทรวงจะเร่งปรับปรุงโปรแกรมบอนด์ ไดเร็ก (BOND DIRECT) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านระบบออนไลน์ได้.