บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเซ็นทรัล รีเทล ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้บุกเบิกอาณาจักรค้าปลีกมายาวนานถึง 72 ปี ผ่านการดูแลและบริหารงานโดยคนในตระกูลมาถึงรุ่นที่ 5 ณ ปัจจุบัน
กำลังถึงเวลาเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ หลัง “The Family จิราธิวัฒน์” ตัดสินใจนำธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกล่องดวงใจของครอบครัว เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า
เซ็นทรัล รีเทล ซึ่งในปีนี้จะมียอดขายทะลุ 300,000 ล้านบาท เป็นธุรกิจล่าสุดที่จะทำให้อาณาจักรเซ็นทรัลทั้งหมดเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกระดับการบริหารงานแบบมืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ผ่านกลไกในฐานะบริษัทจดทะเบียน
อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้ตระกูลมหาเศรษฐียักษ์ค้าปลีกเบอร์ 1 ของประเทศไทย ที่มีสมาชิกมากกว่า 200 ชีวิต อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้ธรรมนูญครอบครัว อันเป็นกรณีศึกษาโดดเด่นของธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย
ตัดสินใจครั้งสำคัญ...นำทรัพย์สินของอาณาจักรเซ็นทรัล รีเทล มูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท เข้ากระจายหุ้น แบ่งปันความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนรายอื่น
“ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล ผู้ซึ่งถูกมอบหมายให้ขับเคลื่อนภารกิจ จะเป็นผู้ไขข้อข้องใจทั้งหมด นับจากบรรทัดนี้...
การนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นเป้าหมายของตระกูลจิราธิวัฒน์มาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ด้วยความที่ธุรกิจรีเทล มีบริษัทในเครืออยู่เป็นร้อยๆบริษัท จำเป็นต้องปรับโครงสร้างทำให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งใช้เวลาและที่สำคัญครอบครัวต้อง “พร้อม” ด้วย เพราะเซ็นทรัล รีเทล ถือเป็นลูกสาวคนโต เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนธุรกิจ
“จะเห็นได้ว่าธุรกิจใหม่ๆของกลุ่ม อย่างธุรกิจโรงแรมในนามบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ซึ่งถือเป็นลูกสาวคนเล็ก กระจายหุ้นเข้าตลาดฯเร็วที่สุดเกือบ 25 ปีแล้ว ขณะที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซึ่งดำเนิน ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อาคาร สำนักงานให้เช่า เปรียบได้กับลูกสาวคนที่สอง ก็เข้าตลาดฯไปแล้ว”
“เหลือแต่ลูกสาวคนโตคือเซ็นทรัลรีเทล ที่ตอนนี้พร้อมเปลี่ยนนามสกุลเป็น “มหาชน” แต่ครอบครัวจะยังคงความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70%”
ญนน์ เล่าว่า แผนเข้าตลาดฯของเซ็นทรัลรีเทลเริ่มชัดเจนราว 4 ปีที่แล้ว เมื่อคนในครอบครัวจิราธิวัฒน์เห็นพ้องต้องกันว่า “ถึงเวลาเสียที”
“ภารกิจของผมซึ่งเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มเซ็นทรัลเมื่อปี 2559 คือการเข้ามาปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ”
เรื่องใหญ่ในการปรับโครงสร้างองค์กรของกลุ่มเซ็นทรัลคือการรวบรวมธุรกิจที่กระจัดกระจาย จัดเข้าเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ 1.กลุ่มแฟชั่นจำหน่ายเครื่องแต่งกาย รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง เป็นต้น แบรนด์สินค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต รีนาเซนเต (ห้างสรรพสินค้าในประเทศอิตาลี) โดยมีจำนวนห้างสรรพสินค้า 81 สาขา เป็นต้น
2.กลุ่มฮาร์ดไลน์ ธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้าน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แบรนด์สินค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไทวัสดุ เพาเวอร์บาย เหงียนคิม (ร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เวียดนาม) โดยมีร้านค้าจำนวน 227 ร้านค้า เป็นต้น
3.กลุ่มฟู้ด จำหน่ายอาหาร ของสด ของแห้ง แบรนด์สินค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ ท็อปส์ เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ แฟมิลี่มาร์ท บิ๊กซี (ในเวียดนาม) โดยมีซุปเปอร์มาร์เกตจำนวน 288 สาขา ร้านสะดวกซื้อ 968 สาขา เป็นต้น
นอกจากโครงสร้างใหม่ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยังเป็นช่วงเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่อีคอมเมิร์ซอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยรวบรวมเอาธุรกิจในเครือมาอยู่บนช่องทางเดียวกันทั้งหมด และมีการผสมผสานช่องทางการเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลายแบบ Omni-Channel ทั้งในร้านค้า ออนไลน์ มือถือ สื่อสังคมโซเชียล และแอปพลิเคชัน
“หลายคนมองออนไลน์ว่าเป็นคู่แข่ง เป็นอุปสรรค แต่เรามองว่าเป็นโอกาสและนับว่าโชคดีที่เซ็นทรัลทำออนไลน์มาตั้งแต่ต้น น่าจะเกือบ 10 ปีแล้ว ลองผิดลองถูกมาตลอด มาถึงวันนี้ ยอดขายออนไลน์อาจยังไม่ถึง 3% ของยอดขายเซ็นทรัล รีเทล ทั้งหมดที่ 300,000 ล้านบาท แต่ในบางชนิดสินค้าถือว่าเติบโตได้ดี เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กทำยอดขายออนไลน์ได้ 7-10% ของยอดขายสินค้าเดียวกันทั้งหมด และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆหรือสินค้าในห้างมียอดขายออนไลน์ 4-7% ส่วนสินค้าอาหาร ของสดในท็อปส์ยอดขายออนไลน์อยู่ที่ประมาณ 1-3%”
หากถามว่าเซ็นทรัลได้รับผลกระทบจากความนิยมในการช็อปปิ้งออนไลน์ไหม ก็ต้องยอมรับว่ากระทบแน่นอน เราต้องตื่นตลอดเวลา สินค้าไหนที่ยอดขายไม่เดิน ต้องเอาออกหรือลดพื้นที่ลงทันที เราทำงานหนักขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น ขณะเดียวกันก็มีสินค้าที่ขายดีล้อไปกับกระแสออนไลน์เช่นกัน ยกตัวอย่าง สินค้าสปอร์ตแฟชั่น รองเท้าผ้าใบสนีกเกอร์ ถ้าฉกฉวยโอกาสได้ทัน ก็จะขายได้มากขึ้น
ทุกช่องทางมีจุดอ่อนจุดแข็งเหมือนกันหมด ออฟไลน์มีจุดแข็งจับต้องได้ การบริการ คนรู้สึกได้ว่าซื้อสินค้าของแท้ แต่จุดด้อยคือ Assortment หรือการจัดประเภทสินค้า เช่น สาขาต่างจังหวัดอาจมีสินค้าแค่บางประเภท ถ้าอยากได้ความหลากหลาย ก็ต้องเดินทางมาซื้อในสาขากรุงเทพฯ ขณะที่ออนไลน์มีจุดแข็งด้านมีสินค้าครบครันเหมือนกันหมด
ส่วนจุดอ่อนของออนไลน์คือ จับต้องไม่ได้ ดมกลิ่นไม่ได้ ของแท้ไม่แท้พิสูจน์ไม่ได้ แต่ถ้าคลิกในแพลตฟอร์มของเซ็นทรัล เช่น รองเท้ากีฬา เมื่อสั่งซื้อออนไลน์ดีที่สุดคือส่งเร็ว แต่ใส่ได้ไม่ได้ไม่รู้ จ่ายเงินไปแล้ว แต่หากสั่งซื้อผ่านเซ็นทรัล ลูกค้าจะมี 2 ทางเลือกทันที 1.จะซื้อสินค้าทันที 2.จะมาดูสินค้าที่สาขา ซึ่งถ้าลูกค้าจะเข้ามาดู เซ็นทรัลจะสำรองสินค้าให้เลือกสามสี หรือสองสามไซส์ให้เหมาะสมกับเท้า ซึ่งคู่แข่งออนไลน์อื่นทำไม่ได้
เพราะเซ็นทรัลต้องการเป็นออฟไลน์และออนไลน์ดีที่สุด
ส่วนสาเหตุในการตัดสินใจเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ไม่ใช่เรื่องเงินเป็นสำคัญ เพราะเซ็นทรัลแข็งแรงอยู่แล้ว สามารถหาแหล่งเงินทุนได้เอง เป้าหมายหลักเพราะการเข้าตลาดฯจะทำให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (Quantum Leap) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการแข่งขันในระดับโลก
ปัจจุบันจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 5 ได้ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจของอาณาจักรเซ็นทรัลแล้ว นับวันครอบครัวจะยิ่งขยายใหญ่ขึ้น แม้มีชื่อเสียงในระดับโลก แต่หากไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน ความน่าเชื่อถือย่อมน้อยกว่า การทำงานกับพันธมิตรระดับโลกจะมีอุปสรรค
โดยนอกจากเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ “รีนาเซนเต” ในอิตาลีแล้ว เซ็นทรัลรีเทลยังเป็นเจ้าของบิ๊กซีในเวียดนาม หลังเข้าไปลงทุนเพราะเป็นตลาดที่กำลังเติบโต การแข่งขันยังไม่มากนัก
ในอนาคตอันใกล้ การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้การก้าวไปในระดับโลกราบรื่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้าซื้อกิจการ การควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งจะทำให้ฐานลูกค้าใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่มากขึ้น
โดยการลงทุนในต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องไปในรูปแบบของการลงทุนขนาดใหญ่เสมอไป อาจบุกไปในนามเซ็นทรัลออนไลน์และท็อปส์-ออนไลน์ เข้าประเทศจีนผ่านเว็บไซต์ JD.com หรืออาลีบาบา เป็นต้น
เมื่อถูกถามถึงแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกไทยในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ว่าจะเดินตามรอยห้างสรรพสินค้าในอเมริกา ที่ต้องทยอยปิดตัว เลิกกิจการหรือไม่นั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเซ็นทรัล รีเทล บอกว่า เซ็นทรัลต้องทำในสิ่งที่ทำให้คนไม่หลับ ทำให้คนกระโดดออกมานอกบ้าน ทำให้คนตื่นเต้น มีชีวิตชีวา
“ผมมองว่าในสหรัฐอเมริกา ถ้าห้างอย่าง Macy หรือ Walmart ตื่นขึ้นมาเร็วหน่อย ขยับตัวบุกเบิกอะไรใหม่ๆอเมซอน (Amazon.com) คงไม่ใหญ่เท่าปัจจุบันนี้”
แต่พวกนี้พอตื่นขึ้นมา ทำอะไรไม่ทัน เลยเข้าไปซื้อธุรกิจอื่น เช่น Walmart เข้าไปซื้อกิจการ jet.com ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แข่งกับ Amazon แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหน
นอกจากนั้น นิสัยคนไทยยังไม่เหมือนคนอเมริกัน คนไทยชอบออกนอกบ้าน ชอบสังคม เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ที่พักเล็กลงเรื่อยๆ หากห้างสรรพสินค้าตอบโจทย์ความต้องการนี้ เชื่อว่าถึงอย่างไรก็ไปต่อได้
“เดิม 95% เป็นพื้นที่ขายของ แต่ปรับลดลงเรื่อยๆ โดยปัจจุบันเหลือ 2 ใน 3 ส่วน อีก 1 ส่วน เป็นพื้นที่สำหรับธนาคาร ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้า”
สิ่งที่เราต้องช่วงชิงคือเวลา (Time Share) ถ้าเราได้เวลาจากลูกค้ามากขึ้น ก็จะมีโอกาสขายของมากขึ้น ไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์”
ของพวกนี้ ผมเชื่อว่าอยู่ที่ยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์!!
ทีมเศรษฐกิจ