ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า วานนี้ (24 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความ เร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน มูลค่า 224,544 ล้านบาท
โดยมีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือซีพีเอช และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หลังการลงนาม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ดีใจกับความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าว เพราะเราทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว วันนี้ (24 ต.ค.) ถือเป็นการนับหนึ่งลงนามสัญญาในการเริ่มก่อสร้าง โดยมีหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นการเชื่อมทั้ง 3 สนามบินเท่านั้น ยังเชื่อมไปถึงโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนที่กำลังดำเนินการก่อสร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดนภาพรวมในการลงทุนของโครงการนี้จะใช้เงินไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศไทย
ด้านนายศุภชัย กล่าวว่า กลุ่มซีพีเอชได้วางแผนระยะเวลาในการก่อสร้าง ไว้ว่า ต้องดำเนินการก่อสร้างให้ได้ภายใน 1 ปี หรือ 12 เดือน แต่ต้องไม่เกิน 24 เดือนนับจากนี้ เพื่อให้การก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการ ภายในปี 2566 โดยเส้นทางสายแรกที่จะเปิดให้บริการคือ สถานีมักกะสัน ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันมีรถไฟแอร์พอร์ต ลิงก์ ให้บริการอยู่โดย ซีพีเอชสามารถเข้าปรับปรุงระบบงาน และเปิดให้บริการโดยใช้เวลาไม่นานนัก
ส่วนเส้นทางที่ 2 คือ สนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภา 170 กิโลเมตร (กม.) รฟท.ระบุว่า จะส่งมอบพื้นที่ได้เร็วขึ้นจากเดิม 2 ปี เหลือ 1 ปี 3 เดือน เส้นทางที่ 3 สนามบินดอนเมืองถึงสถานีมักกะสัน จะส่งมอบพื้นที่เร็วขึ้นจาก 4 ปี เหลือ 2 ปี 3 เดือน ซึ่งหากเป็นไปตามเวลาที่กำหนด เชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะก่อสร้างเสร็จทั้งหมด โดยได้วางแผน ให้สถานีรถไฟมักกะสันเป็นจุดศูนย์กลางโครงการเพื่อให้สามารถเชื่อมไปยังรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ และถนน เพื่อให้นักเดินทางไปถึงจุดพักอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่ง รฟท.ได้มอบพื้นที่สถานีมักกะสันให้กลุ่มซีพีเอชพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ใน
พื้นที่ 2 ล้าน ตร.ม. ใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 140,000 ล้านบาท
“เราได้หารือกับ รฟท.มาโดยตลอด เพราะยอมรับว่าเป็นงานหินมากที่สุดเท่าที่เคยทำงาน เนื่องจากเป็นโครงการแรกของอีอีซี และยังมีเรื่อง การส่งมอบพื้นที่อีกด้วย แต่กลุ่มซีพีเอช ได้รับความ ร่วมมืออย่างดีจากพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สามารถรับความเสี่ยง ที่เกิดขึ้นได้ และเมื่อโครง– การเปิดให้บริการ คาดว่า จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 650,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานตรง 16,000 อัตรา และในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 100,000 อัตรา”
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ รฟท. กล่าว ว่า เรื่องการเวนคืนพื้นที่ได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าวันที่ 29 ต.ค.นี้ จะนำพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า เมื่อลงนามสัญญาแล้ว ตนได้สั่งการให้ รฟท.นำ สัญญาและเอกสารแนบท้ายสัญญามาเผยแพร่กับสื่อมวลชน รวมถึงประชาชนให้ได้รับรู้.