“ศักดิ์สยาม” เลื่อนลงนามสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เหตุบอร์ดรถไฟลาออกยกชุด เปิดโอกาส “ซีพี” แสดงความเห็น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่าได้เลื่อนกำหนดการลงนามในสัญญาในโครงการระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูลจากเดิมที่กำหนดให้ลงนามไม่เกินวันที่ 15 ต.ค. ออกไปเป็นวันที่ 25 ต.ค. หรือเลื่อนออกไปจากเดิม 10 วัน โดยอยู่ระหว่างให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการจัดทำหนังสือไปแจ้งบริษัทในกำหนดการลงนามสัญญาใหม่อีกครั้ง
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เหตุจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลาออกทั้งคณะ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากการลงนามในสัญญาต้องได้รับอนุมัติจากบอร์ด จึงต้องมีการตั้งบอร์ด รฟท. ชุดใหม่ก่อน ขณะเดียวกันก็ได้แจ้งให้นายกฯทราบแล้วและมีบัญชาให้รีบดำเนินการโดยเร็ว โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างเสนอชื่อบอร์ด รฟท.ชุดใหม่กลับมาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในสัปดาห์นี้ เพื่อเสนอ ครม. วันที่ 15 ต.ค.
“นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาว่าเรื่องนี้ต้องเดินหน้า เพราะจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย และต้องพูดเรื่องนี้อย่างตรงไป ตรงมา และโปร่งใส อะไรที่รัฐดำเนินการถูกต้องแล้วต้องทำต่อไป ส่วนอะไรที่ภาคเอกชนสงสัย เราจะอธิบายให้ฟัง และช่วยกันเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าได้ และบอร์ดอีอีซีได้ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดไปพร้อมกันด้วย ขอให้อย่ากังวล เรื่องนี้ต้องเร่งรัด เพราะสำคัญกับประเทศมาก” นายศักดิ์สยามกล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การลาออกของบอร์ด รฟท. เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึง และหากไม่มีบอร์ด รฟท. เราก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้ให้ ครม.รับทราบได้ และต้องถามบอร์ดว่า สาเหตุลาออกเพราะอะไรทั้งที่ตนก็ได้พยายามยับยั้งแล้ว ต่อกรณีที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ขอให้รัฐบาลร่วมรับความเสี่ยงกับภาคเอกชนในการลงทุนโครงการนี้ด้วย นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของนายธนินท์ แต่รัฐบาลก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารคัดเลือกเอกชน RFP ซึ่งในข้อ 50.1 กำหนดว่า ผู้ยื่นเสนอจะต้องรับภาระความเสี่ยง
“เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อะไรที่รัฐบาลจะสามารถทำให้ผู้ประกวดราคาดำเนินการได้ตามกฎหมาย และตาม RFP แล้ว เรายินดีจะทำ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ดังนั้นต้องช่วยกันดูว่ามีอะไรที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ เช่น การส่งมอบพื้นที่ ซึ่งขณะนี้สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ประมาณ 72% เหลือ 28% ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวแล้วเพื่อดูแลการย้ายสาธารณูปโภค และการบุกรุกพื้นที่” นายศักดิ์สยามกล่าว
ทั้งนี้ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่อยู่ในเส้นทาง การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่ง รมว.คลัง เป็นประธาน รมว.อุตสาหกรรม และตน เป็นรองประธาน รวมถึงปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ก็คงมีการดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโครงการนี้ เนื่องจากในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) มีหลายโครงการย่อยอยู่ในนั้น ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้ดำเนินการตามบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้.