การประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 9 และการประชุมคณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ป (ทีเอ็นซี) สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 10-19 ต.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ
ถือเป็นนัด “ชี้เป็น” หรือ “ชี้ตาย” ความตกลงอาร์เซ็ปก็ว่าได้!!
เพราะน่าจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของทั้งระดับรัฐมนตรี และระดับเจ้าหน้าที่ของ 16 ชาติ ที่จะปลดล็อกปัญหาต่างๆที่ยังติดค้าง เพื่อทำให้การเจรจาปิดรอบสิ้นปีนี้ตามเป้าหมายผู้นำ และประกาศความสำเร็จของการเจรจาในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำ (อาเซียน ซัมมิต) เดือน พ.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ
แต่ดูแล้วความตั้งใจของ 16 ชาติอาจมาถึงทางตัน และไปไม่ถึงฝัน เพราะสมาชิกพัฒนาแล้วอย่างน้อย 3 ประเทศ “ตีรวน” ไม่ให้การเจรจาจบตามเป้าหมาย และนำบางเรื่องที่เจรจา “จบ” แล้ว แต่กลับไม่ให้ถือว่าจบ มาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองผลประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนา
ล่าสุด ประเทศที่ว่าสร้างปัญหาใหญ่อีก โดยใช้การเจรจาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) “บล็อก” ไม่ให้การเจรจาจบสิ้นปีนี้ และต้องการลากยาวไปถึงปีหน้า
เพราะได้เสนอข้อเสนอแบบ “เห็นแก่ได้” ที่ให้สมาชิกต้อง “เปิดเสรี” ในระดับสูงทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว โดยไม่คำนึงถึงสมาชิกกำลังพัฒนาที่ไม่มีศักยภาพ หรือความสามารถในการแข่งขันมากพอจะเปิดเสรีได้ในระดับนั้น
อีกทั้งยังผลักดันให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กลาย “พันธกรณี” ที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย หากสมาชิกไม่ปฏิบัติตามจะถูกฟ้องร้อง ทั้งๆที่แต่เดิม “ทั้ง 16 ประเทศ” ตั้งใจให้เป็นเพียง “ความร่วมมือ” เท่านั้น
สำหรับข้อเสนอที่ว่า เช่น ยกเลิกเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซแบบถาวร แม้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ แต่กำหนดให้ยกเว้นชั่วคราว และให้สมาชิกหารือกันทุก 2 ปี, ห้ามรัฐบาล สมาชิกใช้กฎระเบียบบังคับให้ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซมาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศที่ให้บริการ, โอนย้ายข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตโดยเสรี รัฐจะควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญเสนอให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องอยู่ภายใต้ “กลไกการระงับข้อพิพาท”
ข้อเสนอเหล่านี้ ลดทอนอำนาจบริหารจัดการของภาครัฐ บังคับให้สมาชิกต้องเปิดเสรี โดยที่ภาครัฐไม่สามารถใช้กฎระเบียบ หรือกฎหมายบริหารจัดการ หรือแก้ปัญหาได้ แม้สมาชิกส่วนใหญ่ อย่างอาเซียน อินเดีย จีน ไม่เห็นด้วย แต่ 3 ประเทศผู้เสนอ กลับมีท่าทีแข็งกร้าว และทุบโต๊ะเสียงแข็งว่า...
ถ้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตกลงไม่ได้ตามที่เสนอ จะไม่ยอม “ประกาศความสำเร็จ” แน่นอน!! ทำเอาสมาชิกส่วนใหญ่ส่ายหัว เพราะการดึงดันอาจทำให้การเจรจาลากยาวไปปีหน้า อาเซียนจึงเสนอทางออกที่เรียกว่า “อาเซียน แพ็กเกจ” สำหรับข้อเสนอที่ไม่ให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อยู่ภายใต้กลไกระงับข้อพิพาท โดยเสนอให้ทบทวนข้อเสนอนี้ทุก 5 ปี เป็นการพบกัน
ครึ่งทาง เพื่อทำให้ปิดรอบการเจรจาสิ้นปีนี้ ซึ่งอาเซียน อินเดีย กระทั่งจีน ยอมรับ แต่ประเทศเจ้ากรรม ไม่ยอมรับเด็ดขาด
มาถึงตรงนี้ ทำให้เห็นว่าอินเดีย ประเทศกำลังพัฒนา มีประชากรกว่าพันล้านคน ส่วนใหญ่ยากจน และสมาชิกอาร์เซ็ปส่วนใหญ่มองว่าเป็น “ตัวป่วน” ของการเจรจาในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ตัวปัญหาอีกแล้ว!!
เพราะอินเดียที่ก่อนหน้านี้มีท่าทีแข็งกร้าวในข้อเสนอของตนเองเรื่องการเยียวยาทางการค้า ที่เสนอให้สมาชิกใช้ “เซฟการ์ด” ที่เรียกว่า “auto-trigger and snapback” เก็บภาษีเซฟการ์ดกับสินค้านำเข้าที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องเปิดไต่สวนว่าปริมาณนำเข้าที่เพิ่มขึ้น สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในจริงหรือไม่นั้น
กลับยอมอ่อนข้อ และยอมเจรจา 2 ฝ่ายกับประเทศที่เกรงจะส่งสินค้าไปตีตลาดอินเดีย ส่งผลให้เรื่องนี้น่าจะจบลงได้ นี่คือ “ความพยายาม” ของประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการให้อาร์เซ็ปจบ และใช้ประโยชน์ได้เร็ว
ดังนั้น ต้องจับตารัฐมนตรีอาร์เซ็ป และทีเอ็นซีครั้งนี้ จะ “ผ่าทางตัน” พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างไร จะทำให้ประเทศเจ้าปัญหา “ยอมหักไม่ยอมงอ” หรือ “ยอมงอดีกว่าหัก” แต่ถ้าไม่ยอมผ่อนปรน วงเจรจาอาจหาทางออกด้วยการ “แขวน” เรื่องที่เจรจาไม่จบ แล้วประกาศความสำเร็จเรื่องที่จบแล้ว เพราะขณะนี้การเจรจาภาพรวมสำเร็จแล้วถึง 90% แต่หาก 3 ประเทศไม่รับข้อเสนอนี้ อาร์เซ็ปยืดเยื้อแน่
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง บางประเทศในอาเซียน อาจ “ถอน” สิ่งที่ตกลงไปแล้ว เพื่อเก็บไว้ต่อรองในการเจรจาปีหน้า เท่ากับว่าอาร์เซ็ป จะเริ่มต้นใหม่!! และประโยชน์ที่สมาชิกควรได้จากเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลกนี้ ต้องชะลอออกไป
ที่สำคัญไม่มีใครรับประกันได้ว่า ถ้าการเจรจายืดเยื้อแล้ว ในที่สุดจะจบหรือไม่ จบเมื่อไร หรือจะถูกแขวนถาวร นี่ยังไม่นับรวมปมขัดแย้งระหว่างประเทศอีก ที่ยังไม่รู้จะหาทางออกได้หรือไม่ อย่างไร??
สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์