คลอดเกณฑ์ออก “ใบขับขี่รถไฟ”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลอดเกณฑ์ออก “ใบขับขี่รถไฟ”

Date Time: 20 ก.ย. 2562 08:38 น.

Summary

  • “คมนาคม” ตั้งคณะทำงานคลอดหลักเกณฑ์ออก “ใบขับขี่รถไฟ” หนุนโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน และการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสีต่างๆรอบกรุง

Latest

เปิดตัว "ไทยรัฐ ครีเอทีฟ" ขยับสู่ธุรกิจ "สื่อสารการตลาดครบวงจร"

เงินเดือนหลักแสน!รองรับระบบรางประเทศ

“คมนาคม” ตั้งคณะทำงานคลอดหลักเกณฑ์ออก “ใบขับขี่รถไฟ” หนุนโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน และการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสีต่างๆรอบกรุง รวมทั้งการเปิดให้เอกชนลงทุนขนส่งสินค้าทางรางแบบพีพีพี เชื่ออีก 6 เดือนสรุปหลักเกณฑ์และมาตรฐานได้ “กรมราง” โวอาชีพขับไฮสปีดเทรนน่าสนใจ เงินเดือน 1 แสนอัป

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตขับรถไฟ ว่า กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนกระทรวงคมนาคม, กรมการขนส่งทางราง, ผู้ให้บริการรถไฟทุกระบบ และมีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นที่ปรึกษา เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และออกมาตรฐานการออกใบขับขี่รถไฟ

ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งการขับขี่รถไฟความเร็วสูงต้องมีหลักเกณฑ์และทักษะพิเศษกว่ารถไฟทั่วไป

ประกอบกับก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีนโยบายส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนขนส่งสินค้าทางราง โดยจ่ายค่าตอบแทนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แต่เอกชนหลายราย เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พบว่า การลงทุนซื้อหัวรถจักรและแคร่มีปัญหาในขั้นตอนการประกันภัย เพราะบริษัทประกันภัยถามหาหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานของผู้ขับขี่รถไฟ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางรางจึงเห็นว่า ควรเร่งจัดทำมาตรฐานผู้ขับขี่เป็นการเร่งด่วน เพื่อสร้างความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงการส่งเสริมกิจการขนส่งทางรางของประเทศไทย

นายสรพงศ์กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมคณะทำงานครั้งแรกในครั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าควรแบ่งหลักเกณฑ์การออกใบขับขี่รถไฟเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าที่ให้บริการภายในเมือง (Metro) 2.รถไฟทางไกล (Intercity) ที่ให้บริการขนส่งสินค้า 3.รถไฟทางไกลที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร และ 4.รถไฟทางไกลที่ใช้ความเร็วสูง โดยหลังจากนี้ คณะทำงานจะเร่งสรุปรายละเอียดและเงื่อนไขการออกใบขับขี่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลภายใน 6 เดือน จากนั้นจะมีการออก “ใบรับรองการขับขี่” ให้กับผู้ปฏิบัติงาน ต่อมาเมื่อ พ.ร.บ.การขนส่ง

ทางรางเริ่มมีผลบังคับใช้ กรมการขนส่งทางรางก็จะมอบ “ใบขับขี่รถไฟ” ให้ผู้ปฏิบัติงานที่มีใบรับรองโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางจะประกาศหลักเกณฑ์และมาตรฐานผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆของระบบราง รวมถึงผู้ขับขี่รถไฟ โดยจะมอบอำนาจให้หน่วยงานต่างๆดำเนินการจัดตั้งศูนย์สอบใบขับขี่ ฝึกอบรม และคุมมาตรฐานด้วยตัวเอง ส่วนกรมจะกำกับดูแลมาตรฐานและคุณภาพในภาพรวมเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและประกาศของกระทรวงคมนาคม

สำหรับผู้ขับขี่รถไฟความเร็วสูงนั้นจะมีมาตรฐานและหลักเกณฑ์เข้มงวดมากกว่าปกติ ซึ่งจะเทียบเท่ากับผู้ขับเครื่องบิน เพราะการขับรถไฟความเร็วสูงจะมีความเครียดมากกว่าปกติและต้องรับผิดชอบชีวิตคนจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ผู้ขับขี่รถไฟความเร็วสูงก็จะมีรายได้สูงตามไปด้วย เช่น ในประเทศจีนจะมีรายได้ตั้งแต่ 30,000 หยวน หรือมากกว่า 150,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ส่วนในประเทศไทยก็น่าจะมีรายได้ในหลักแสนบาทต่อเดือนใกล้เคียงกัน แต่พนักงานขับรถไฟไทยในปัจจุบันก็มีรายได้ไม่น้อย ประมาณ 50,000-80,000 บาทต่อเดือน

“เรื่องนี้ต้องเร่งทำ เพื่อประโยชน์ของการรถไฟฯเอง เพราะการรถไฟฯจะได้ประโยชน์จากค่าเช่าใช้ทางจากการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาท อันนี้เป็นไปตามนโยบายของ รมว.ศักดิ์สยาม ขณะเดียวกัน พอมีระบบรถไฟความเร็วสูงและมีมาตรฐาน วางหลักเกณฑ์เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าวิชาชีพการขับขี่รถไฟจะเป็นวิชาชีพที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งสำหรับประชาชนคนไทย เพราะมีรายได้สูง” นายสรพงศ์กล่าว

นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ในต่างประเทศจะกำหนดให้มีการสอบใบขับขี่รถไฟความเร็วสูงใหม่ทุกๆ 5-10 ปี แล้วแต่ประเทศ ส่วนผู้ให้บริการรถไฟในประเทศไทย เช่น รถไฟฟ้า BTS หรือรถไฟฟ้า MRT ก็จะมีการทบทวนและทดสอบความรู้ใหม่ทุกๆปีอยู่แล้ว แต่เมื่อประเทศไทยจะออกใบขับขี่รถไฟ ก็ต้องมาพิจารณาหลักเกณฑ์ด้วยว่าจะต้องมีการสอบใบขับขี่ใหม่ทุกๆกี่ปี

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ขับรถไฟทั้งหมดราว 1,800-2,000 คน แบ่งเป็นรถไฟฟ้าในเมือง 700-800 คน และรถไฟทางไกล 1,100-1,200 คน แต่ในอนาคตปริมาณผู้ขับขี่ก็จะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะรถไฟฟ้าในเมือง คาดว่าความ ต้องการผู้ขับขี่จะเพิ่มจาก 800 คน เป็น 6,000 คน ภายใน 7-10 ปีข้างหน้า เพราะรถไฟฟ้ากำลังทยอยเปิดเส้นทางใหม่ๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายสีเขียวส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นต้น และมีการเพิ่มขบวนใหม่เฉลี่ย 10% ต่อปี ส่วนรถไฟความเร็วสูงก็คาดว่าจะต้องการผู้ขับขี่ประมาณ 100 คนต่อเส้นทาง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ