“ศักดิ์สยาม” ชี้เป็นมารยาท บอร์ดในสังกัดคมนาคมต้องลาออก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ศักดิ์สยาม” ชี้เป็นมารยาท บอร์ดในสังกัดคมนาคมต้องลาออก

Date Time: 2 ส.ค. 2562 08:36 น.

Summary

  • “ศักดิ์สยาม” ส่งสัญญาณให้บอร์ดทุกหน่วยงานในสังกัดคมนาคมชุดปัจจุบัน “ลาออก” เหตุเป็นมารยาททางการเมือง เมื่อมีการเปลี่ยน รัฐบาลหรือรัฐมนตรี ต้องเปิดทางให้รัฐมนตรีที่เข้ามากำกับดูแลแต่งตั้งบอร์

Latest

เพลงทำหน้าที่เสมือน “เพื่อนคนหนึ่ง” คนไทยยังชอบฟังเพลงไทย ยอมจ่ายค่า Subscription แม้พุ่ง 2 เท่า

“ศักดิ์สยาม” ส่งสัญญาณให้บอร์ดทุกหน่วยงานในสังกัดคมนาคมชุดปัจจุบัน “ลาออก” เหตุเป็นมารยาททางการเมือง เมื่อมีการเปลี่ยน รัฐบาลหรือรัฐมนตรี ต้องเปิดทางให้รัฐมนตรีที่เข้ามากำกับดูแลแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่เข้ามาทำงาน เพื่อให้การทำงานสอดคล้องและเป็นไปตาม แนวทางของรัฐมนตรีใหม่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้มีการแบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นที่แน่ชัดเจนแล้วว่า นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ดูแลงานด้านคมนาคมทางน้ำ นายถาวร เสนเนียม รับผิดชอบงานด้านอากาศ และเพื่อให้การทำงานระหว่าง รัฐมนตรีที่กำกับดูแล และผู้บริหารหน่วยงานมีความสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐมนตรีใหม่เข้ามากำกับดูแลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตนเห็นว่าการปฏิบัติงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลชุดเก่าให้ไปทำหน้าที่คณะกรรมการหรือบอร์ดในหน่วยงานต่างๆนั้น ตามมารยาทเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแล้ว คณะกรรมการควรต้องแสดงสปิริตลาออก ส่วนรัฐมนตรีใหม่ที่เข้ามากำกับดูแลจะแต่งตั้งกลับมาใหม่อีกครั้งหรือไม่นั้น ขึ้นกับการพิจารณาของแต่ละคน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงบอร์ดใหม่ เพื่อให้มีการทำงานเป็นไปในทิศทางที่ฝ่ายบริหารกำหนดนโยบายไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงคมนาคมมีโครงการเร่งด่วนที่ต้องทำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมจำนวนมาก ทั้งโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน การลดภาระค่าครองชีพประชาชน รวมถึงนโยบายเพิ่มความสะดวกสบายในบริการระบบรถโดยสารสาธารณะ ฝ่ายบริหารและผู้ปฏิบัติต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้งานของรัฐบาลบรรลุผลสำเร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคมมีรัฐวิสาหกิจภายในสังกัดทั้งหมด 15 แห่ง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โดยปัจจุบันบอร์ดหลายแห่ง โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่กำลังรอดูท่าทีที่ชัดเจนจากฝ่ายการเมืองว่าจะให้ลาออกเมื่อใด โดยบอร์ด ขสมก.ได้ยื่นหนังสือลาออกยกชุดไปตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.62 เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลใหม่แต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่แทน ด้านบอร์ดการรถไฟฯมีกระแสข่าวเรื่องการยื่นหนังสือลาออกเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดก็ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ