“สุริยะ” เผยข่าวดี 4 บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีน เตรียมย้ายฐานการลงทุนมายังประเทศไทยหลังสงครามการค้าพ่นพิษทั้งคาสิโอ ไซหลุนไทล์ ซิติเชน วอช และริโค่ พร้อมหารือประธานเจโทร โชว์ศักยภาพไทยฐานลงทุนชั้นนำ เร่งนำน้ำจากเหมืองแร่ มาช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งด่วน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาวะสงครามทางการค้าสหรัฐฯและจีนที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีแนวโน้ม ที่บริษัทที่เข้าไปลงทุนยังประเทศจีน กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นแทนโดยเป้าหมายหนึ่งคือประเทศไทยโดยล่าสุด นิตยสารนิเคอิ เอเชี่ยน รีวิว ได้มีการรายงานถึงแนวโน้ม 4 บริษัทรายใหญ่ที่ลงทุนจีน จะย้ายฐานเข้ามาลงทุนในประเทศไทย 4 รายได้แก่ บริษัท คาสิโอ จำกัด ผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ของโลก, บริษัท ยาง ไซหลุนไทล์ จำกัด ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์,บริษัท ซิติเชน วอช จำกัด ผู้ผลิตนาฬิกา และบริษัท ริโค่ จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติและเครื่องใช้สำนักงาน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการกระตุ้น ให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาในไทยโดยเร็วที่สุด จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)ไปจัดทำแผนเพื่อหามาตรการที่จะดึงดูดการลงทุนมากขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเตรียมเสนอให้นักลงทุนดังกล่าวใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ
ขณะเดียวกัน ในเดือน ก.ค.นี้ นายฮิโระกิ มิตสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ (เจโทร) ได้ทำหนังสือขอเข้าพบ โดยประเด็นสำคัญหนึ่ง ที่จะหารือกันคือการชักจูง นักลงทุนญี่ปุ่นที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้เข้ามาลงทุนในไทย และนักลงทุนญี่ปุ่นที่ไปลงทุนต่างประเทศแล้ว ที่กำลังประสบปัญหาสงครามการค้า และกำลังเตรียมแผนย้ายออกจากประเทศนั้นๆให้มาลงทุนยังประเทศไทยมากขึ้น
“ในเดือน ส.ค.นี้ ผมได้นัดหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อหารือถึงแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมและอุปสรรคการลงทุน หรือปัญหาที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ไข ทั้งนี้ มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของทั้งนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติที่ประกอบกิจการอยู่แล้วในขณะนี้ รวมทั้งนักลงทุนรายใหม่ๆ เนื่องจากประเทศไทยมีการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนที่ดี ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม และสำคัญคือการเมืองที่มีความชัดเจน”
นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งจัดหาแหล่งน้ำจากขุมเหมืองแร่ทั่วประเทศ ทั้งจากเหมืองที่เปิดกิจการอยู่ในขณะนี้ และเหมืองที่ปิดกิจการไปแล้ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง โดยให้ประสานกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ หาแนวทางนำน้ำจากขุมเหมืองที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน ส่วนน้ำจากขุมเหมืองที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้ว และปิดกิจการไปแล้ว ก็ให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าของพื้นที่หาแนวทางนำน้ำจากขุมเหมืองไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งด้วยเช่นกัน
สำหรับในปัจจุบันมีพื้นที่ประทานบัตร เหมือง แร่ที่มีศักยภาพสามารถนำน้ำขึ้นมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง รวม 200 แปลง มีปริมาตรน้ำรวม 150 ล้านลูกบาศก์เมตร กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมาในบางพื้นที่มีการนำน้ำจากขุมเหมือง ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วไปใช้เพื่อการอุปโภค แหล่งประมง และการทำเกษตรกรรมแล้วในหลายพื้นที่ อาทิ ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ขุมเหมืองของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาน้ำยืน จำกัด ที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ขุมเหมืองของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่หินชุมแพรุ่งเรือง อำเภอภูผาม่าน จังหวัด ขอนแก่น และขุมเหมืองของบริษัท พิพัฒน์กร จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดตาก เป็นต้น.