ย้อนใช้โมเดล “ครม.เศรษฐกิจ”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ย้อนใช้โมเดล “ครม.เศรษฐกิจ”

Date Time: 20 ก.ค. 2562 05:45 น.

Summary

  • สมคิด รับข้อเสนอ ส.อ.ท.3 ข้อ แต่ขอร้องให้เอกชนเร่งปรับปรุงตัวเองให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้ยุคดิจิตอล พร้อมเสนอนายกรัฐมนตรีให้มีการประชุม ครม.เศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการทำงาน

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

สมคิดรับข้อเสนอ ส.อ.ท.แบ่งรับแบ่งสู้ค่าแรงสี่ร้อย

สมคิด รับข้อเสนอ ส.อ.ท.3 ข้อ แต่ขอร้องให้เอกชนเร่งปรับปรุงตัวเองให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้ยุคดิจิตอล พร้อมเสนอนายกรัฐมนตรีให้มีการประชุม ครม.เศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการทำงาน ยันค่าแรงงาน 400 บาท ขึ้นได้ตามทักษะฝีมือแรงงานและข้อเสนอของไตรภาคี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังจาก นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมคณะฯ เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ผลการหารือร่วมกันภาคเอกชนมี 3 เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ขณะที่รัฐบาลต้องการให้เอกชนช่วยเหลือในหลายๆ เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

สำหรับข้อเสนอของ ส.อ.ท. 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม ซึ่งต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนโดยให้บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมกองทุนดังกล่าว สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า จากกรมสรรพากร โดยกองทุนดังกล่าว จะมีขนาด 1,000 ล้านบาท จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา 2. เพิ่มวาระประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จากเดิมปีละ 1 ครั้ง เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2 และ 3. เรื่อง Doing Business หรือ การวัดความยากง่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคาร โลกนั้น ส.อ.ท.ต้องการนั่งเป็นกรรมการใน Doing Business จากปัจจุบัน มีตำแหน่งเพียงผู้เข้าร่วมการประชุมเท่านั้น

ส่วนเรื่องที่ต้องการให้ ส.อ.ท.เข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลมากขึ้นคือ 1. การสร้างความตื่นตัว เพื่อให้ทันกับการทำงานของภาครัฐ เพราะในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากเอกชนไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วพอภาคเอกชนเองจะลำบากมาก เนื่องจากรัฐบาลลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ไปจำนวนมาก เช่น รถไฟความเร็วสูง โครงการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เป็นต้น

“ภาคเอกชนต้องลงทุนเพิ่มทางด้านเพิ่มนวัตกรรมและการพัฒนาฝีมือแรง เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ยุคดิจิตอล ไม่ใช่มีลักษณะอุตสาหกรรมกลางเก่า กลางใหม่อย่างปัจจุบัน และที่สำคัญมากๆ คือ การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันเรื่องของเกษตรที่กระทรวงเกษตรกรดูแลนั้น เน้นไปเรื่องการเพิ่มผลผลิตการเพาะปลูก ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ และเหล็ก เป็นต้น ไม่มีใครลงไปพัฒนาและยกระดับขึ้นเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเลย จึงต้องการให้เอกชนขนาดใหญ่ มาเป็นพี่เลี้ยงผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นใหม่ โดยมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานสนับสนุน ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)”

นอกจากนี้ ตนยังรายงานให้ ส.อ.ท.รับทราบว่า รัฐบาลชุดนี้ จะมีประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เพื่อให้รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจช่วยกันกลั่นกรองเรื่องที่สำคัญๆ ก่อนที่จะเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา โดย ครม.เศรษฐกิจจะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ซึ่งมั่นใจว่า การทำงานของรัฐบาลผสมจะมีความรวดเร็วขึ้น

ส่วนเรื่องค่าแรง 400 บาทต่อวัน ซึ่งเป็น นโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้มีหารือกัน แต่ในหลักการแล้ว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องเป็นไปตามข้อตกลงของไตรภาคี 3 ฝ่าย (นายจ้าง ลูกจ้างและภาครัฐ) จะต้องหารือกันว่า จะขึ้นค่าแรงได้เมื่อไหร่และขึ้นเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ตามที่ตกลงกันและยังต้องสอดคล้อง กับทักษะของฝีมือแรงงานด้วย ซึ่งประเด็นนี้ เป็นไปตามนโยบายพรรคในการหาเสียงที่ต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน

“ประเด็นเรื่องของค่าเงินบาทนั้น ขอให้เอกชนสบายใจได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอย่างเต็มที่แต่การที่ให้ ธปท.ทำงานแบบครั้งเดียวจบ เพื่อให้เงินบาทอ่อนลงทันทีคงไม่สามารถทำได้ โดย ธปท.มีวิธีการในการควบคุมเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นอยู่แล้ว โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลักๆ จากรัฐบาลชุดก่อน

นายสุพันธุ์กล่าวว่าปัจจุบันรัฐบาลมีกองทุนที่สามารถนำเงินไปลงทุนในนวัตกรรมการได้ แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้หรือเบิกจ่ายได้น้อยเพียง 10-20 ล้านบาท เช่นกองทุนดิจิตอล และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งขนาดกองทุนมีมากถึง 10,000 ล้านบาท ดังนั้น กองทุนนวัตกรรมที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ จะเป็นกองทุนเอกชนเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ