นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีสัญญาสัมปทานระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม โดยระบุว่าจากข้อเสนอของคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ที่ส่งมายังคมนาคมในช่วงที่ผ่านมาพบว่า เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ดำเนินการพิจารณาเจรจากับเอกชนรายดังกล่าวเกี่ยวกับกรณีที่ศาลตัดสินให้ กทพ.แพ้คดี 2 ลักษณะคือ กรณีสร้างทางแข่งขันและการไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าผ่านทาง แต่ ครม.มีมติให้เจรจาโดยไม่ให้ชำระเป็นเงินและให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้จากการพิจารณาของ บอร์ด กทพ.พบว่าได้รวมเอากรณีที่อยู่ระหว่างฟ้องร้อง ซึ่งมีลักษณะทางคดีที่คล้ายกันกับ 2 กรณีข้างต้นมาพิจารณาไปพร้อมกัน เพราะต้องการให้ข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และบีอีเอ็มสิ้นสุดต่อไป จึงเกิดเป็นแนวทางในการแลกหนี้จากข้อพิพาททั้งหมดรวมมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท แลกกับการต่อสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) ระยะ 15 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2563
นอกจากนี้ บีอีเอ็มจะต้องลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นทางด่วน 2 ชั้น จากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กิโลเมตร รูปแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ภายใต้การลงทุน 31,500 ล้านบาท รวมทั้งต้องสร้างทางขึ้น-ลง เชื่อมต่อสถานีกลางบางซื่อ โดยการก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น เอกชนต้องดำเนินการในขั้นตอนวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หากดำเนินการได้ กทพ.จึงจะต่อสัมปทานเพิ่มให้อีก 15 ปี
“แนวทางเจรจากับเอกชนจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และที่ผ่านมา กทพ.ได้เจรจากับบีอีเอ็มไปบ้าง พบว่ามีการปรับลดมูลหนี้เหลือ 59,000 ล้านบาท ดังนั้น หากวันนี้ตัดสินแลกสัมปทานนอกจาก กทพ.จะจบคดีข้อพิพาท ไม่ต้องใช้เงินตามมติ ครม.แล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น อย่างไรก็ดี หาก กทพ.ไม่เจรจากับเอกชน และต้องรอให้ศาลตัดสินทุกข้อพิพาทก็จะทำให้ กทพ.มีหนี้เพิ่มสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยอีก 7.5%”.