“ท่องเที่ยวไทย” รับพิษเศรษฐกิจโลกซบ–สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน สทท.ปรับลดเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติลง 580,000 คน รายได้ต่ำเป้า 70,000 ล้านบาท กระตุ้นรัฐมนตรีใหม่เร่งกู้สถานการณ์ “ทีทีเอเอ” เผยค่าเงินบาทแข็ง คนไทยดี๊ด๊าเที่ยวนอกทะลัก คาดทั้งปีเม็ดเงินออกไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ครึ่งปีหลังเที่ยวยุโรป–ตุรกี เพิ่ม 10–20% ด้านไทยเที่ยวญี่ปุ่นทุบสถิติปีนี้แตะ 1.2 ล้านคน
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า สทท.ได้ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยตลอดปี 2562 ใหม่ จากก่อนหน้านี้เคยคาดไว้ 40.64 ล้านคน เหลือที่ 40.06 ล้านคน หรือลดลง 580,000 คน รายได้จากตลาดต่างชาติเที่ยวไทยเดิมคาดที่ 2.2 ล้านล้านบาท เหลือ 2.13 ล้านล้านบาท หรือลดลงประมาณ 70,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ใหม่ยังเห็นการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 4.65% เทียบกับปี 2561 ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้น 6.23% โดยสาเหตุที่ต้องปรับคาดการณ์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
“สทท.ยังไม่กังวล เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับเกิน 40 ล้านคน ถือว่าเป็นตัวเลขน่าพอใจสำหรับปีนี้ แต่จุดที่อยากเห็นการเติบโตมากกว่านี้ คือ ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อดึง
นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพเข้ามา”
ประธาน สทท.กล่าวด้วยว่า เมื่อ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ มารับตำแหน่ง จะนำคณะกรรมการ สทท.และสมาคมท่องเที่ยวต่างๆเข้าพบเพื่อสรุปสถานการณ์ท่องเที่ยว เพื่อขอให้เร่งเดินหน้าทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง และเร่งจัดทำมาตรฐานด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว เพราะภาคท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้น ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ อยากเสนอให้รัฐบาลผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในทุกๆ มิติ และจัดทำ “อาเซียนวีซ่า” แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้สามารถเดินทางได้ครบ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนภายใต้วีซ่าเดียว
ด้านนางสาวทัศนีย์ เกียรติกำจรชัย เลขาธิการสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบัน ได้ส่งผลบวกต่อตลาดนักท่องเที่ยวขาออก (เอาต์บาวด์) หรือคนไทยเที่ยวต่างประเทศ เพราะจากการติดตามยอดจองในครึ่งหลังปีนี้ พบว่า คนไทยจองแพ็กเกจท่องเที่ยวไปประเทศตุรกีและยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และยุโรปตะวันออกมากขึ้น 10-20% หลังค่าเงินลีรา (Lira) ตุรกีลดลงกว่า 50% เทียบกับ 6 ปีก่อน และยังฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวไทย ส่วนค่าเงินยูโรก็ลดลงต่ำกว่าระดับ 35 บาทต่อ 1 ยูโร
ขณะที่ญี่ปุ่นยังถือเป็นจุดหมายที่ชาวไทยนิยมไปเที่ยวอยู่แล้ว และคาดว่าการจองที่ดีอย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี ทำให้ตลาดไทยเที่ยวญี่ปุ่นปีนี้มีแนวโน้มสูงถึง 1.2 ล้านคนมากกว่าสถิติ 1 ล้านคนของปีที่แล้ว โดย 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจเอ็นทีโอ) รายงานว่า มียอดนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่นแล้ว 512,700 คน เพิ่มขึ้น 19.4% ส่วนตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศตลอดปีนี้อยู่ที่ 10.8-11 ล้านคน เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ 10 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท
ขณะที่นายวัชรพงศ์ รติสุขพิมล ผู้ช่วยคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้ร่วมกับ สทท.สำรวจความเห็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 600 ราย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจในไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 100 เท่ากับที่คาดการณ์ไว้จากไตรมาสก่อน สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ค่อนข้างทรงตัว ส่วนคาดการณ์ในไตรมาส 3 ยังเท่ากับ 100 แม้อยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซัน) และผู้ประกอบการยังมีความกังวลจากเศรษฐกิจไทย รวมถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวในประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่อง แต่มีปัจจัยเสริมจากการเร่งทำโปรโมชันของผู้ประกอบการ รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว ทำให้ภาพรวมยังคงทรงตัว
ส่วนการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ต่อรัฐบาลใหม่ มีข้อเสนอให้ขยายเวลาและเพิ่มจุดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในตัวเมือง รวมถึงโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองหลักควบคู่เมืองรองผ่านช่องทางต่างๆ มากขึ้น และส่งเสริมระบบการคมนาคมเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรอง รวมทั้งช่องทางการเข้าถึงข้อมูลการเดินทาง และยังต้องการให้รัฐบาลใหม่ร่วมมือกับเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน ศึกษาศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการระยะสั้นและยาวเพื่อจัดการปัญหาในแต่ละพื้นที่.