ททท.เผยท่องเที่ยวปีนี้เหนื่อย!! ช่วง 6 เดือนแรกของปี สร้างรายได้รวม 1.562 ล้านล้านบาท หลุดจากเป้าหมายที่ 3.4 ล้านล้านบาท ชี้ต่างชาติมาไทยแล้ว 19 ล้านคน ขยายตัวเพียง 2% สร้างรายได้ 1 ล้านล้านบาท หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและผลกระทบจากสงคราม การค้าสหรัฐฯ-จีน ส่วนคนไทยเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น 5% สร้างรายได้ 562,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมืองรองยังได้รับความสนใจ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวช่วง 6 เดือนแรกปี 62 (ม.ค.-มิ.ย.62) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ในภาวะทรงตัว มีจำนวน 19.9 ล้านคน ขยายตัวเพียง 2% สร้างรายได้เข้าประเทศ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% ขณะที่คนไทยเที่ยวในประเทศ 77.5 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้น 5% และสร้างรายได้ 562,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ทำให้ในครึ่งปีแรกมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1.562 ล้านล้านบาท จากที่ตลอดทั้งปีตั้งเป้ารายได้รวมทางการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 11.5% คิดเป็นเม็ดเงิน 3.4 ล้านล้านบาท โดยเป็นเป้ารายได้ที่เกิดจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น 12% คิดเป็นวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น 10% คิดเป็นเงิน 1.2 ล้านล้านบาท
สำหรับ 6 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวภูมิภาคที่เติบโตดี ได้แก่ เอเชียใต้เพิ่มขึ้น 17% อาเซียนเพิ่มขึ้น 5% และอเมริกาเพิ่มขึ้น 3% และส่วนภูมิภาคที่จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในภาวะทรงตัว ได้แก่ เอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้น 0.1% แอฟริกาเพิ่มขึ้น 0.1% ยุโรปรวมถึงโอเชียเนียลดลง 0.7% ส่วนภูมิภาคที่จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัว คือตะวันออกกลางลดลง 6%
ทั้งนี้ การที่หลายภูมิภาคอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากแรงกดดันทั้งปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะตึงเครียด ทั้งเศรษฐกิจยุโรปและตะวันออกกลาง ความกังวลสงครามการค้าและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระลอกใหม่รวมถึงการเติบโตของคู่แข่ง ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศ เช่น การฟื้นตัวของตลาดจีนที่แผ่วลงในช่วงไตรมาส 2 และแนวโน้มเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า อย่างไรก็ตาม ตลาดระยะใกล้ เช่น อาเซียนและเอเชียใต้ ยังคงมีทิศทางการเติบโตที่ดี จากความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในภูมิภาค และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival)
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.62) คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น 7% โดยเกือบทุกภูมิภาคมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยตลาดเอเชียจะยังเป็นตลาดหลักที่มีแนวโน้มเติบโตดี จากพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง และการฟื้นตัวกลับมาเติบโตในแดนบวกของตลาดจีนหลังจากติดลบกว่า 10% ในปีที่ผ่านมา โดยเริ่มเห็นการหดตัวที่น้อยลง ขณะที่ตลาดตะวันออกกลางจะยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวจากการคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่าน และราคาน้ำมันโลกที่ผันผวน
มีปัจจัยสนับสนุน คือ การขยายเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on arrival ถึงวันที่ 31 ต.ค.62 และภาพลักษณ์ของไทยกลับเข้าสู่การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มเติบโตดี ตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นอกจากนั้น มีการเปิดเที่ยวบินใหม่ อาทิ เที่ยวบินแอร์เอเชีย จากจาการ์ตา-ภูเก็ต 3 เที่ยว/สัปดาห์ และฟูกูโอกะ-กรุงเทพฯ 4 เที่ยว/สัปดาห์ อีกทั้งมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำรัสเซีย จากเมือง Krasnojarsk, Vladivostok, Moscow และ Khabarovsk เข้าสู่อู่ตะเภา, กระบี่, ภูเก็ตและกรุงเทพฯ กว่า 30 เที่ยวบิน ขณะที่ตลาดจีน ททท.ได้กระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ลงนามความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยกับธุรกิจรายใหญ่ของจีน อาทิ อาลีเพย์ และไชน่า ทราเวล เซอร์วิส (ซีทีเอส)
ส่วนประเด็นที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ผลกระทบเศรษฐกิจจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทั้งผลกระทบโดยตรงกับสหรัฐฯและจีน และผลกระทบต่อเนื่องกับประเทศคู่ค้าของทั้งสองประเทศ และจะมีการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่ง เช่น เวียดนาม รวมทั้งความยืดเยื้อของการประท้วงใหญ่ในฮ่องกง และการยุติการให้บริการของสายการบินเจ็ต แอร์เวย์ส จากภาวะล้มละลาย ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่ของอินเดีย
ผู้ว่าการ ททท. ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ท่องเที่ยว 6 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มิ.ย.62) ของคนไทยว่าภูมิภาคที่มีรายได้เป็นอันดับหนึ่ง (ยกเว้นกรุงเทพฯ) ยังคงเป็นภาคใต้ รองลงมาคือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ตามลำดับ ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทย (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) นิยมเดินทางเที่ยวในภาคกลางมากที่สุด โดยเติบโต 6% เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมหลากหลายตอบโจทย์นักท่องเที่ยว
ทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย และระยะทางใกล้เดินทางสะดวก รองลงมา คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6% เป็นผลจากวันหยุดติดต่อกันหลายช่วง สำหรับภาคเหนือ ช่วงเดือน ก.พ.-ต้น เม.ย. แม้ปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 จะทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนยกเลิกการเดินทางเข้าพื้นที่หรือเปลี่ยนเป้าหมายไปที่อื่นแทน แต่การท่องเที่ยวภาคเหนือไตรมาสแรกและไตรมาสสอง ยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบระยะสั้น ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนจึงช่วยบรรเทาค่าฝุ่นละอองให้เจือจางจนบรรยากาศการท่องเที่ยวกลับคืนสู่สภาวะปกติ ขณะที่กระแสการท่องเที่ยวส่งเสริมเมืองรองยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางไปเยือน โดยเมืองรองที่มีอัตราการเติบโตจำนวนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ราชบุรี เพิ่มขึ้น 11% จันทบุรี 9% พัทลุง 8% บุรีรัมย์ 6% และแม่ฮ่องสอน 5%.