ม.หอการค้าไทยเปิดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคร่วง ลดลงทุกรายการ กังวลรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ สงครามการค้ายืดเยื้อ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จี้รัฐบาลเร่งตั้ง ครม.เป็นที่ยอมรับของสังคม และมีทีมเศรษฐกิจที่เรียกความเชื่อมั่นได้ ด้าน สศช.เผยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีก 6% สู่ระดับ 78.6 ของจีดีพี เป็นอันดับ 10 จาก 89 ทั่วโลก เอ็นพีแอลสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,241 คนทั่วประเทศ ว่า ในเดือน พ.ค.2562 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 19 เดือนนับจากเดือน พ.ย.2560 เป็นต้นมา โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 64.8 ลดจาก 66.2 ในเดือน เม.ย.2562 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 73.3 ลดจาก 74.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 95.0 ลดจาก 96.7 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.2562 อยู่ที่ 77.7 ลดจาก 79.2 ดัชนีความเชื่อมั่น
ผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 52.3 ลดจาก 53.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 88.8 ลดจาก 90.5
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทุกรายการ เพราะผู้บริโภคกังวลใน 3 ปัจจัยหลัก คือ เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีเสียงสนับสนุนใกล้เคียงกับฝ่ายค้าน สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและขยายไปสู่ในภาคธุรกิจ และราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ จึงต้องการให้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่จะมาจากหลายพรรคการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ และเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนแรก รัฐมนตรีต้องทำงานอย่างหนักแน่นอน เพื่อสร้างผลงานให้ประชาชนรับรู้ ส่วนนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งหากทยอยปรับขึ้นแล้วพัฒนาศักยภาพแรงงาน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็นวันละ 400-425 บาท หรือเพิ่มขึ้น 30% เศรษฐกิจไทยเกิดอาการช็อกแน่ ผู้ประกอบการคงย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สนับสนุนใกล้เคียงกับฝ่ายค้านนั้นคงต้องติดตามการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2563 หากมีความยืดเยื้อและผ่านยาก จะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสะดุด แต่หากผ่านได้ตามกรอบเวลา คงไม่มีปัญหาอะไร และคาดว่าน่าจะเริ่มต้นงบปี 2563 ได้ในเดือน ม.ค.2563 ทำให้ในช่วงนี้ หรือในเดือน ก.ค.-ก.ย.2562 รัฐบาลชุดใหม่สามารถใช้งบกลางเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นก่อนได้ โดยในเบื้องต้นประเมินว่า เงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ทุกๆ 10,000 ล้านบาท จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวได้อีก 0.04% และหากมีเงิน 30,000-50,000 ล้านบาท จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวได้อีก 0.1-0.3%
“ปัญหาหนักที่หลายฝ่ายกังวล หนีไม่พ้นสถานการณ์ทางการเมือง ที่ประชาชนกังวลมากสุดในรอบ 60 เดือน หรือ 5 ปี จากที่รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนปริ่มน้ำ และหากมีการเมืองนอกสภา เช่น มีการประท้วง คงต้องปรับเป้าจีดีพีจากเดิมที่ประเมินไว้ 3.5% ขณะที่สงครามการค้า หากสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก มูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจีนตอบโต้กลับอย่างรุนแรง ก็คงต้องปรับเป้าจีดีพีใหม่เช่นกัน เพราะจะกระทบต่อการส่งออก ราคาสินค้าเกษตร และการท่องเที่ยวของไทย”
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2562 ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ในไตรมาส 4/2561 เท่ากับ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% คิดเป็น 78.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยแนวโน้มไตรมาสแรกปีนี้ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่คาดว่ายังไม่ถึงระดับ 80% ของจีดีพี จึงยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก สำหรับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น มาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น 10.1% สูงสุดรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2/2557 เนื่องจากคนเร่งก่อหนี้ก่อนบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 เม.ย.2562 และความต้องการรถยนต์มากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเป็นอันดับ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย
สำหรับคุณภาพสินเชื่อโดยรวมยังคงทรงตัว แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขยายตัว 9% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัว 9.1% โดยหนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ประมาณ 126,356 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.75% ต่อสินเชื่อรวม และคิดเป็นสัดส่วน 27.8% ต่อหนี้เอ็นพีแอล ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2559 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม หนี้ผิดชำระเกิน 3 เดือนของบัตรเครดิตลดลง 3.6% เทียบกับขยายตัว 0.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้ สศช.ยังแสดงความกังวลด้วยว่า ระดับหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอีกด้วย.