“ฐากร” เชื่อมาตรการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลแบบสุดซอยมูลค่าเบื้องต้น 3.2 หมื่นล้านบาท จะทำให้หลายช่องเปลี่ยนใจไม่คืนใบอนุญาต จากที่คาดว่าจะคืน 4–5 ช่อง เหลือไม่ถึง 3 ราย กสทช.ย้ำทีวี-ค่ายมือถือที่จะเข้าร่วมโครงการขอคืนใบอนุญาต-ผ่อนชำระ ต้องแจงจำนงภายใน 10 พ.ค.นี้ มิเช่นนั้นหมดสิทธิ์ ขณะที่ช่อง 3 ถามชัด คืนใบอนุญาตแล้วได้เงินคืนเมื่อไร จับตา 2 ช่องเด็กคืนใบอนุญาต ด้านสปริงส์ 26 นอนยันไม่คืนคลื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบการกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผลทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่ต้องชำระเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย (งวด 5 และ 6) มูลค่า 13,622 ล้านบาท และไม่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ไปตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลือ 9 ปี 6 เดือน มูลค่า 18,775 ล้านบาท รวมถึงคืนใบอนุญาตได้ พร้อมได้รับเงินชดเชย ส่วนค่ายมือถือได้รับสิทธิ์ขยายระยะเวลาค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไป 10 ปี ภายใต้เงื่อนไขต้องรับจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ไปด้วยนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2562 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล, ผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิทัล, ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และสถาบันการเงิน พร้อมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดของคำสั่ง ม.44 ทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจตรงกันและถูกต้อง
นายฐากร กล่าวชี้แจงว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะต้องทำหนังสือแจ้ง กสทช.อย่างเป็นทางการว่า ประสงค์จะใช้สิทธิ์ตามคำสั่ง ม.44 ครั้งนี้ ภายในวันที่ 10 พ.ค.2562 นี้เท่านั้น และหลังจากนั้นสำนักงาน กสทช.จะกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินชดเชยการคืนใบอนุญาตแล้วเสร็จผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลช่องใดไม่ประสงค์จะคืนใบอนุญาต ก็สามารถถอนเรื่องออกได้ เพื่อประกอบกิจการต่อไป แต่ยังคงได้รับสิทธิ์ไม่ต้องจ่ายค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย และค่าเช่าโครงข่ายเหมือนเดิม ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิทัลจะได้รับเงินเยียวยาด้วย ในกรณีที่มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต เพราะถือเป็นผู้รับผลกระทบ และทาง กสทช.จะตั้งคณะทำงานทั้งหมด 7 ชุด เพื่อกำหนดรายละเอียดให้แล้วเสร็จเร็วที่สุดภายในปลายเดือน พ.ค.2562
สำหรับสูตรการคำนวณการจ่ายชดเชยเงินคืนให้กับทีวีดิจิทัล เบื้องต้น จำนวนเงินประมูลที่ชำระไปแล้ว คูณระยะเวลาการประกอบกิจการที่ผ่านมา (ปี) หารด้วยระยะเวลาของใบอนุญาต 15 ปี แล้วนำมาลบกับจำนวนเงินที่จ่ายไปแล้ว ยกตัวอย่าง จ่ายเงินไปแล้ว 400 ล้านบาท คูณด้วยระยะเวลาประกอบกิจการ 5 ปี หาร 15 ปี ได้ผลลัพธ์ที่ 133 ล้านบาท คิดเป็นค่าใช้คลื่น จากนั้นเอาไปลบออกจากเงินที่จ่ายไปแล้ว 400 ล้านบาท เท่ากับจะได้เงินคืน 267 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สูตรดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น ซึ่งคณะทำงานยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อ นอกจากนั้นวงเงินชดเชยยังต้องนำไปพิจารณาร่วมกับผลประกอบการของแต่ละช่องด้วย
ส่วนการคาดการณ์ว่าจะมีช่องทีวีคืนใบอนุญาตกี่รายนั้น นายฐากร ตอบว่า เมื่อไม่ต้องจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตที่เหลือ รวมทั้งค่าเช่า ใช้โครงข่ายแล้ว คาดว่าจะมีหลายช่องเปลี่ยนใจประกอบกิจการต่อ จากเดิมที่คาดว่าจะคืนใบอนุญาต 4-5 ราย อาจเหลือไม่ถึง 3 ราย
นายฐากร กล่าวว่า ส่วนค่ายมือถือก็ต้องแจ้งยืนยันว่าจะใช้สิทธิ์ตาม ม.44 ด้วยเช่นกัน และเมื่อ กสทช.ร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์แล้วเสร็จ หากยืนยันว่าไม่เข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์การขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลเป็น 10 ปีด้วย โดยในส่วนของค่ายมือถือนั้น เมื่อเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์แล้ว ก็จะได้รับสิทธิ์ชำระค่าคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นเวลา 10 ปีเช่นกัน แต่หากไม่เข้ารับการจัดสรรคลื่นครั้งนี้ก็ต้องเข้าสู่ระบบการประมูลในครั้งต่อไป และอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดิม โดย กสทช.จะเปิดประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ภายในเดือน มิ.ย.2562 นี้
“สาเหตุที่ต้องเปิดประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 5 จี เป็นที่ 1 ในอาเซียน และเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแล้ว ยังต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลด้วย ว่าได้รับความช่วยเหลืออย่างแน่นอน เพราะเงินจากการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จะเป็นเงินที่นำมาชำระค่าประมูลงวดที่ 5 และ 6 แทนทีวีดิจิทัล รวมถึงค่าเช่าโครงข่ายด้วย รวมเป็นเงินที่ช่วยเหลือทีวีดิจิทัล 32,377 ล้านบาท”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่องทีวีดิจิทัลที่มีแนวโน้มอาจคืนใบอนุญาต ได้แก่ 2 ช่องเด็กและเยาวชน คือ ช่อง 13 และช่อง 14 ของช่อง 3 และอสมท ตามลำดับ ส่วนช่อง 19 สปริงนิวส์ ซึ่งมีแนวโน้มจะคืนใบอนุญาตเช่นกันนั้น ล่าสุดอาจเปลี่ยนใจประกอบกิจการต่อ ส่วนอีก 3 ช่อง ที่น่าจับตา ไบร์ททีวี, นิวส์ทีวี, ทีเอ็นเอ็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชี้แจงดังกล่าว นายฐากรยังได้เปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการได้สอบถาม โดยนายฉัตรชัย เทียมทอง ตัวแทนจากช่อง 3 แสดงความกังวลใจว่าหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการคืนคลื่นยังไม่มีรายละเอียดออกมา แต่ผู้ประกอบการต้องตัดสินใจว่าจะคืนใบอนุญาตหรือไม่ภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ซึ่งนายฐากรได้ชี้แจงว่าจะพยายามออกหลักเกณฑ์ให้ได้ภายในปลายเดือน พ.ค. และเสนอให้ผู้ประกอบการมายื่นขอคืนใบอนุญาตไว้ก่อน เพราะเปิดโอกาสให้เปลี่ยนใจภายหลังได้ แต่หากไม่ยื่นตามกำหนด จะไม่มีโอกาสได้ยื่นอีกแน่นอน นอกจากนั้น นายฉัตรชัยยังถามว่าจะได้เงินชดเชยจากกรณีคืนคลื่นเมื่อไร ซึ่งนายฐากรตอบว่า จะได้หลังผู้รับจัดสรรคลื่น 5 จี มาชำระเงิน ซึ่งกำหนดไว้เบื้องต้นวันที่ 1 ต.ค.2563
ขณะที่นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร ตัวแทนจากเอไอเอส สอบถามว่า หากต้องการคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ เพียงแค่ 5 เมกะเฮิรตซ์ (จากจำนวน ที่นำออกจัดสรรทั้งหมด 45 เมกะเฮิรตซ์ โดยคาดว่า 3 ค่ายมือถือจะขอรับจัดสรรรายละ 15 เมกะเฮิรตซ์) จะทำได้หรือไม่ จะยังได้รับการเยียวยาผ่อนชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์หรือไม่ ซึ่งนายฐากรตอบว่าได้ นายวีรวัฒน์ยังถามต่อว่า จะสามารถเลือกย่านความถี่ได้หรือไม่ เนื่องจากการจัดสรรคลื่น 5 จีครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการประมูล แต่เป็นการจัดสรรให้ 3 ค่ายมือถือเท่าๆกัน ซึ่งนายฐากรตอบว่า จะกลับไปคิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่อไป
ด้านนายอติรุฒน์ โตทวีแสนสุข ตัวแทนจากทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่อง และเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือในนามทรูมูฟเอช กล่าวว่า ธุรกิจโทรคมนาคมในระยะหลังแทบไม่เติบโต ทำให้มูลค่าตลาดหายไปกว่า 400,000 ล้านบาท แนวทางของ กสทช. ซึ่งเป็นการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลและเศรษฐกิจในภาพรวม หากมองอีกมุมหนึ่งถือเป็นภาระของ 3 ค่ายมือถือ ขณะเดียวกัน หากจะคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลก็ถูกกดดันให้ตัดสินใจในเวลาที่จำกัด จึงอยากให้ กสทช.รีบคลอดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขออกมาให้เร็วที่สุด
ขณะที่นายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ตัวแทนจากดีแทค ยืนยันว่า กสทช.ควรกำหนดแผนการจัดสรร 5 จี ให้ครบถ้วนครอบคลุมคลื่นในทุกย่านความถี่ทั้งหมดก่อน ทั้งคลื่นความถี่ย่านสูง-กลาง-ต่ำ ควรทำให้รอบคอบก่อนและไม่ต้องรีบ ซึ่งนายฐากรตอบว่า กสทช.มีแผนจะประมูลคลื่น 5 จีเพิ่มช่วงปลายปี โดยต่อมาดีแทคออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า จากการรับทราบเรื่องการขยายเวลาชำระเงินคลื่น 900 ดีแทคยืนยันได้ว่าราคาคลื่นความถี่ของประเทศไทยนั้นสูงเกินไป
ด้านนายเขมทัต พลเดช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่า อสมท จะคืนใบอนุญาตใด จากปัจจุบันที่ถือครองไว้ 2 ใบอนุญาต คือ ช่อง 9 Mcot และช่องแฟมิลี่ Mcot 15 เพราะเป็นการตัดสินใจของบอร์ดและผู้ถือหุ้น ขณะที่นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง 3 กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่าช่อง 3 จะคืนใบอนุญาตหรือไม่ ต้องรอให้บอร์ดเป็นผู้ตัดสิน ส่วนนายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สปริง 26 จำกัด เปิดเผยว่า ช่องสปริง 26 ไม่คืนใบอนุญาตแน่นอน ส่วนช่องสปริงนิวส์ 19 นั้น ไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบได้.
1.ยกเว้นเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลงวด 5 และ 6 (2 งวดสุดท้าย) มูลค่า 13,622 ล้านบาท
2.กสทช.จ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลแทนตลอดใบอนุญาตที่เหลือ 9 ปี 6 เดือน มูลค่า 18,775 ล้านบาท
3.ขยายระยะเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับ เอไอเอส ทรู และดีแทค จาก 4 งวด เป็น 10 งวด โดยหากจะเข้าโครงการขยายเวลาผ่อนชำระ ต้องซื้อคลื่น 5 จี (700 เมกะ-เฮิรตซ์) ซึ่งจะเปิดขายเดือน มิ.ย.2562 และเริ่มชำระค่าคลื่น วันที่ 1 ต.ค.2563 โดยมูลค่าคลื่นเบื้องต้นเคาะไว้ที่ 21,000-25,000 ล้านบาทต่อ 15 เมกะเฮิรตซ์
4.กรณีต้องการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จะได้รับการจ่ายเงินคืน แต่วงเงินจะไม่เกินเงินค่าประมูลที่จ่ายแล้ว (กสทช.อยู่ระหว่างคิดสูตรคำนวณ)
5.อสมท ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) เรียกร้องให้มีการจ่ายเงินชดเชย กรณี Mux ได้รับผลกระทบจากจำนวนลูกค้าน้อยลง หลังช่องทีวีสามารถคืนใบอนุญาตได้ (กสทช.รับปากและจะไปร่างเงื่อนไข)
6.ช่อง 3 และ อสมท ซึ่งเป็นเจ้าของ 2 ช่องเด็กและมีแนวโน้มจะคืนใบอนุญาต รอผลการตัดสินใจของบอร์ดและที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน ขณะที่ไบร์ททีวี นิวส์ทีวี สปริงนิวส์ วอยซ์ทีวี และทีเอ็นเอ็น กำลังถูกจับตา
7. เลขาธิการ กสทช. เชื่อว่ามาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จะทำให้มีช่องทีวีจำนวนหนึ่งเปลี่ยนใจ กัดฟันเดินหน้าธุรกิจต่อ จากเดิมที่คิดว่าจะคืนใบอนุญาต 4-5 ราย
8.เลขาธิการ กสทช. แนะนำช่องทีวีที่คิดจะคืนใบอนุญาตยื่นเจตจำนงมาก่อน 10 พ.ค.2562 หากเปลี่ยนใจสามารถ
ยกเลิกได้ จะได้ไม่เสียสิทธิ์
9.เลขาธิการ กสทช. มั่นใจจะมี 2 ค่ายมือถือเข้ารับการจัดสรรคลื่น 5 จีแน่ แต่ไม่พูดถึงอีกค่าย หากขายคลื่นไม่หมดจะนำออกประมูลให้ผู้สนใจอื่นๆต่อไป ซึ่งบอกได้เลยว่ามีกลุ่มทุนต่างชาติสนใจประมูลแน่
10.ประกาศ ม.44 ฉบับนี้ ให้อำนาจเลขาธิการ กสทช.เต็ม พิกัด กรณีมีปัญหาในการปฏิบัติและการวินิจฉัยคำสั่ง ให้เลขาธิการ กสทช.มีอำนาจ และคำวินิจฉัยของเขาถือเป็นที่สิ้นสุด