“อาหารที่ดีและปลอดภัย จะต้องบรรจุในภาชนะที่ปลอดภัยด้วย” นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตน์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) “คุณหมอ” ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจเริ่มต้นบทสนทนา
ต้นเหตุที่มาทำธุรกิจนี้ มาจากการเล่าเรียนด้านการแพทย์และตระหนักรู้ว่าการใช้โฟมและพลาสติกมาใส่อาหาร จะเป็นความเสี่ยงที่นำพาให้ชีวิตเข้าใกล้ “มะเร็ง” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งคือสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย!!
เราไม่ได้ว่าพลาสติกเป็นตัวร้าย เพราะพลาสติกมีคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากมาย แต่พลาสติกไม่ควรนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร โดยเฉพาะการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปี
ส่วน “โฟม” นั้น ไม่สมควรอย่างยิ่งในการนำมาใส่อาหาร เพราะนอกจากจะอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่งยวดแล้ว โฟมยังเป็นต้นเหตุที่สร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล เป็นขยะที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 1,000 ปี!!
ทุกวันนี้มีการรณรงค์มากมายถึงอันตรายของ “โฟม” ที่ใช้บรรจุอาหาร ขณะที่หลายประเทศและเมืองใหญ่ๆในโลกนี้ ห้ามใช้โฟมบรรจุอาหารอย่างเด็ดขาด!! เพราะมีข้อมูลมากมายที่ระบุชัดเจนว่า “โฟม” เป็นต้นตอสำคัญของ “โรคมะเร็ง” เพราะสารพิษหรือสารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตโฟม คือ สไตรีน, ไดออกซิน และไวนิล คลอไรด์ โมโนเมอร์ เป็นต้นเหตุของมะเร็ง
โดยเฉพาะ “สไตรีน” ถือเป็นสารก่อมะเร็งหลายชนิด ทั้งมะเร็งเต้านม และต่อมลูกหมาก โครงสร้างทางโมเลกุลของสไตรีนเหมือนเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนเพศหญิง เมื่อร่างกายได้รับสะสมเข้าไป มีโอกาสทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หงุดหงิดง่าย นอนหลับยาก และยังมีผลต่อระบบเลือด ทำให้เลือดจาง เกล็ดเลือดต่ำ และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับสารนี้มีโอกาสเกิดความผิดปกติของโครโมโซมในทารกแรกเกิดได้ รวมทั้งยังเป็นต้นเหตุความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง สาเหตุของมะเร็งตับ และทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย
และที่คนจำนวนมากยังไม่รู้ “คิดว่าโฟมอันตรายเฉพาะกับการใส่อาหารร้อน” ที่ทำให้สารพิษในโฟมละลายออกมาปนเปื้อนอาหารเท่านั้น
แต่แท้ที่จริงแล้ว ปริมาณสารพิษที่ออกมาจากโฟมขึ้นกับปัจจัยอื่นๆด้วย คือ ทั้งความร้อนและความเย็นของอาหาร, ระยะเวลาที่ภาชนะสัมผัสอาหาร, ปริมาณไขมันในอาหาร และการนำ อาหารเข้าไมโครเวฟ รวมทั้งอาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และอาหารที่ปรุงด้วยน้ำส้มสายชู และมะนาว ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดอย่างส้มตำ ก็จะไปกระตุ้นให้สารพิษสไตรีนออกมามากขึ้นเช่นกัน!!
เพราะ “สไตรีน” มีคุณสมบัติในการ “เคลื่อนย้าย” (migrate) เข้าไปอยู่ในอาหารจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่จากความร้อนเพียงแค่นั้น!!
“โฟม” จึงถือเป็นภัยเงียบที่คนจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงอันตราย แม้จะมีความพยายามรณรงค์จากหน่วยงานทางการของไทยมากมาย แต่ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนตระหนักรู้ถึงพิษภัยเหล่านี้ ที่สำคัญค่ารักษาของคนเป็นโรคมะเร็งก็สูงมาก คนป่วยคนเดียวในบ้าน นอกจากสร้างความทุกข์ใจให้ผู้ใกล้ชิดแล้ว ยังอาจทำให้คนในครอบครัวล้มละลายได้จากค่ารักษาพยาบาล!!
“ผมก่อตั้งบริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมฯ เมื่อปี 2548 เพราะเห็นถึงปัญหาและความจำเป็น เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์และภาชนะที่มาจากเยื่อพืชธรรมชาติ โดยเริ่มต้นจากชานอ้อย ซึ่งปลอดภัยต่อสุขภาพ ไร้สารก่อมะเร็ง และยังมีคุณสมบัติไม่รั่วน้ำและน้ำมัน ใส่อาหารได้ทั้งร้อนและเย็น ทนอุณหภูมิได้ที่ -40 ถึง 250 องศาเซลเซียส ใส่น้ำร้อนหรือน้ำมันได้ถึง 150 องศาเซลเซียส เข้าไมโครเวฟและเตาอบได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะย่อยสลายภายใน 45 วัน โดยการฝังกลบคืนสู่ธรรมชาติกลับไปเป็นปุ๋ยให้กับพืชได้” คุณหมอวีรฉัตรกล่าว
เราใช้เทคโนโลยีจากเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศแรกๆที่เริ่มทำ โดยนำมาพัฒนาและปรับใช้ ทำให้เป็นบริษัทแรกของไทยที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารชนิด Biodegradable จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และเป็นบริษัทเดียวใน AEC ที่ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์และภาชนะที่มาจากเยื่อพืชธรรมชาติ ซึ่งปลอดภัยต่อสุขภาพ
วันนี้เรายังไม่หยุดพัฒนา ทำให้ได้รับรางวัลนวัตกรรมมากมายทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นรางวัลที่เราไม่ได้ส่งประกวด แต่เขาเข้ามาดู มาขอข้อมูล มาตรวจสอบและให้รางวัลมาเอง!!
“คุณหมอวีร-ฉัตร” ให้ข้อมูลว่า ช่วงแรกผลิตได้เท่าไรต้องส่งออกทั้งหมด เพราะต้นทุนสูง คนไทยไม่พร้อมจ่าย แต่ต่างประเทศมีความต้องการมาก เพราะประเทศเค้าโดยเฉพาะในยุโรป คนใช้โฟมต้องจ่ายเงินค่ากำจัดโฟมด้วย ต้นทุนผลิตโฟม 1 บาท มีค่ากำจัด 6 บาท ทำให้ต้นทุนการใช้โฟมสูงกว่าผลิตภัณฑ์ของเรามาก!!
แต่ปัจจุบันเราได้พัฒนาเทคโนโลยีและการผลิต รวมทั้งด้วย economic of scal ปริมาณ การผลิตที่มีจำนวนมากถึงระดับที่ลดต้นทุนได้ จนทำให้ตอนนี้ราคาผลิตภัณฑ์ของเราสูงกว่าโฟมเพียง 1-2 บาท ทำให้คนไทยที่ตระหนักถึงสุขภาพสามารถเข้าถึงและจ่ายได้มากขึ้น นี่คือเป้าหมายสำคัญของเรา!!
“ซื้ออาหารใส่ผลิตภัณฑ์จากชานอ้อยต้องจ่ายเพิ่ม 1—2 บาท แต่ปลอดภัย ใส่โฟมไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มแต่ได้มะเร็งแถม คิดดู ซื้อโฟม 1 บาท ซื้อชานอ้อย 2 บาท (มีราคาตั้งแต่บาทกว่าๆ) ถ้าใช้ทั้ง 3 มื้อ วันหนึ่งต้องจ่ายเพิ่ม 6 บาท ต่ำกว่าราคาน้ำ อัดลม 1 ขวด เดือนหนึ่งจ่าย 180 บาท ปีละ 2,160 บาท เวลา 10 ปี ใช้เงิน 21,600 บาท แต่ค่ายารักษามะเร็งเข็มหนึ่ง 50,000—100,000 บาทแล้ว มันคุ้มค่ากว่าที่จะเอาชีวิตมาตกอยู่ในความเสี่ยง บรรจุภัณฑ์ของเรายังล้างใช้ซ้ำได้ถึง 3 ครั้ง”
“คุณหมอวีรฉัตร” กล่าวว่า บางทีผู้บริโภคในเมืองไทยอาจไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะพ่อค้าแม่ค้าเป็นผู้เลือกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร เพราะต้นทุนที่ถูกกว่า จึงต้องพยายามรณรงค์และสื่อสารออกไปให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันโรงพยาบาล องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยหลายแห่งประกาศไม่ใช้โฟมกันแล้ว หรืออย่างถนนคนเดินเชียงใหม่ และอำเภอปาย รวมถึงงานมหกรรมอาหารต่างๆก็รณรงค์ไม่ใช้โฟม เพราะก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง
เราพยายามเข้าไปมีส่วนร่วม รณรงค์จัดนิทรรศการ ทำแคมเปญร่วมกับภาครัฐและเอกชน กลุ่มร้านอาหารใหญ่ๆ แฟรนไชส์ โรงแรม บริษัทจัดเลี้ยงนอกสถานที่ และทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหาร ตอนนี้มีสัญญาณที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีหลายหน่วยงานเริ่มเป็นฝ่ายติดต่อเข้ามาให้เราไปร่วมรณรงค์ เพราะนอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว คนเริ่มตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม โลกร้อน และปัญหาขยะมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลจากมูลนิธิโลกสีเขียวเคยระบุว่า คนไทยทิ้งขยะจากพลาสติกและโฟมเฉลี่ยคนละ 2.3 ชิ้นต่อวัน นั่นหมายถึงแต่ละวัน คนไทยกว่า 60 ล้านคน ทิ้งขยะพลาสติกและโฟมรวมกันไม่น้อยกว่า 138 ล้านชิ้น ดังนั้นใน 1 ปี 365 วัน จึงมีขยะโฟมและพลาสติกถูกทิ้งมากถึง 50,370 ล้านชิ้น!!
ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ สิ้นเปลืองงบประมาณในการกำจัด โดยกระบวนการกำจัดขยะโฟมต้องมีการเผาในอุณหภูมิที่อยู่ภายใต้การควบคุมที่ถูกต้อง เพื่อเลี่ยงมลพิษที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชน แต่ยังเป็นต้นเหตุปัญหาโลกร้อน และหากกำจัดโดยการฝังกลบ หรือปล่อยให้ย่อยสลายเองต้องใช้เวลานานหลายชั่วอายุคน!!
ถามว่าตอนนี้ส่งออกที่ไหนบ้าง “คุณหมอ” บอกว่าไป ทั่วโลก ห้างค้าปลีก ใหญ่ๆ ทั้งใน อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลางมีหมด ในยูนิเวอร์แซล และดิสนีย์แลนด์ ก็ใช้ของเรา ในเมืองไทยก็มีขายทุกห้างค้าปลีก ที่น่าดีใจคือกำลังผลิตทุกวันนี้ขายในประเทศมากกว่าส่งออกแล้ว แต่ถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับการใช้โฟมและพลาสติกบรรจุอาหาร เพราะเรายังเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ
นอกจากชานอ้อยแล้ว เรายังพัฒนาและทดลองวัตถุดิบจากธรรมชาติอื่นด้วย ทั้งฟางข้าว เยื่อไผ่ ผักตบชวา เยื่อปาล์ม ไมยราบยักษ์ และปอสา แต่ชานอ้อยมีข้อดีคือ ระบบขนส่งที่โรงงาน น้ำตาลจะรวบรวมชานอ้อยหลังหีบน้ำอ้อยออกหมดแล้วตากแห้ง ก่อนขนส่งมาให้เราที่โรงงาน ที่สำคัญยังมีวัตถุดิบให้ใช้จำนวนมาก เพราะไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลส่งออกอันดับ 2 ของโลก
นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุมคุณภาพได้ โดยก่อนที่ชานอ้อยจะมาถึงโรงงาน เราต้องตรวจก่อนว่าไม่มีสารพิษโลหะหนัก เชื้อรา หรือยาฆ่าแมลงปนเปื้อน โดยส่งไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจก่อน ถ้ามีสารปนเปื้อนต้องส่งกลับ ขณะเดียวกัน เราก็ได้คุยกับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ก่อนเก็บเกี่ยวเขาจะไม่ฉีดยา ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขเลย และหลังๆเป็นกระบวนการออร์แกนิกมากขึ้น ชาวไร่ใช้แบคทีเรียเพื่อกำจัดแมลงมากขึ้น
ส่วนกระบวนการผลิตเราใช้ความร้อนถึง 250 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าเชื้อ และในขั้นตอนสุดท้ายจะอาบด้วยแสงยูวีอีกรอบก่อนส่งไปขาย จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัยตั้งแต่ต้นจนจบ
โรงงานเรายังเน้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดสารคลอรีนในการฟอกสี (ECF) ไม่ก่อ ให้เกิดของเสีย โดยน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจะวนกลับไปใช้ใหม่ตลอด ไม่ทิ้ง ยกเว้นวันที่ล้างเครื่อง ซึ่งน้ำที่ล้างเครื่องยังสามารถนำกลับไปรดต้นไม้ได้ ก่อนที่ห้างวอลมาร์ทจะนำสินค้าเราไปวางขาย เขาเข้ามาตรวจละเอียดยิบ เยื่อที่ใช้จะเป็นเยื่อไม้ไม่ได้ ถือเป็นการตัดไม้ทำลายป่า ต้องใช้เยื่อที่ไม่ใช่ไม้ (non-wood) แต่เป็น plant fiber ดูไปถึงว่าเราจ้างแรงงานเด็กหรือไม่ มีขั้นตอนอะไรที่ผิดกฎหมาย รวมไปถึงระบบการบรรจุที่ต้องมีมาตรฐาน สิ่งเหล่านี้เขาตรวจสอบตั้งแต่ ต้นจนจบ พูดได้ว่าลูกค้าต่างประเทศที่มีมาตรฐานสูงทั้งหมดมาดูโรงงานเราก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ!!
ซึ่งมาตรฐานมี 2 แบบ คือ มาตรฐานในเชิงกระบวนการผลิต กับมาตรฐานที่บอกไปแล้วต้องเป็นจริง เช่น บรรจุภัณฑ์เราย่อยสลายได้ 100% เขาต้องมาทดสอบว่าย่อยสลายได้จริง 100% มีแล็บที่รับรองได้ทั้งในประเทศและระดับโลกมาตรวจสอบ ซึ่งเราได้สัญลักษณ์ “ok compost” ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองการย่อยสลายในยุโรปด้วย
“คุณหมอวีรฉัตร” กล่าวว่า วันนี้เราก็ยังคงทำวิจัย ค้นคว้า เพื่อพัฒนาไม่หยุด ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเราได้ขยายเข้าสู่โรงพยาบาลแล้ว ทั้งเป็นภาชนะใส่อาหารให้ผู้ป่วย และทำเป็นชุดเวชภัณฑ์ใช้ในโรงพยาบาลที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อป้องกันและลดการติดเชื้อซ้ำซ้อนในผู้ป่วย
นอกจากนี้ เรายังได้ผลิตจานชามที่มีคุณสมบัติซับน้ำมันในอาหารได้ดีเป็นพิเศษ เพื่อให้คนลดการบริโภคน้ำมันที่อยู่ในอาหารลง รวมทั้งทำบรรจุภัณฑ์ที่ปิดซีลแช่แข็งได้ เพื่อตลาดอาหารแช่แข็งซึ่งมีขนาดใหญ่มาก โดยขณะนี้ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ได้เริ่มส่งออกไปญี่ปุ่นแล้ว เพราะเขาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและพร้อมจ่ายในราคาที่สูงกว่า
“เราเน้นคุณค่าทั้ง 2 ด้าน คือ คุณค่าเชิงสุขภาพและคุณค่าเชิงสิ่งแวดล้อม อยากเปลี่ยนให้ประเทศ ไทยไม่ใช้โฟมใส่อาหาร สุขภาพคนไทยจะดีขึ้นและช่วยลดขยะด้วย จะเห็นว่าตอนน้ำท่วมกรุงเทพฯขยะโฟมและพลาสติกอุดตันในท่อและประตูระบายน้ำเต็มไปหมด เพราะไม่ย่อยสลาย น้ำไหลผ่านไม่ได้”
ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เขาสร้างนวัตกรรมที่เอาชนะธรรมชาติ เพื่อประโยชน์และความสะดวกสบายของมนุษยชาติ แต่ธุรกิจของเราเน้นสร้างนวัตกรรมจากธรรมชาติ
เพื่อธรรมชาติ และนำกลับมาใช้ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อดูแลสุขภาพของเราและสุขภาพของโลกไปพร้อมๆกัน!! “คุณหมอวีรฉัตร” กล่าวทิ้งท้าย.
ทีมเศรษฐกิจ