ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีภาครัฐไม่สามารถนำร่องใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (บีอีวี) เพราะการกำหนดราคากลุ่มรถยนต์ ไฟฟ้า (อีวี) ของสำนักงบประมาณ วงเงินล้านบาทต่อคัน สำหรับให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจจัดซื้อไปใช้งานเพื่อนำร่องในหน่วยงานภาครัฐ แต่ปรากฏว่า เป็นราคาที่ถูกกว่าตลาดทั่วไป ที่ราคาบีอีวีอยู่ที่ 3 ล้านบาทต่อคัน ว่า เรื่องดังกล่าว หน่วยงานราชการไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ แม้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมารองรับ โดยมติ ครม.ดังกล่าว ก็เพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศ ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจว่าภาครัฐ สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยการกำหนดให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจจัดซื้อบีอีวี 20% ของรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ที่หน่วยงานจัดซื้อ โดยกำหนดบัญชีคุณลักษณะ และบัญชีราคาของรถยนต์ไฟฟ้า แบบแบตเตอรี่ และเพิ่มเติมรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เข้าไปในบัญชีนวัตกรรมไทย
ล่าสุดพบว่า หลักเกณฑ์การประกวดราคาที่รัฐกำหนดไว้ในระเบียบจัดซื้อจัดจ้างต้องมีเอกชนเสนอราคาเป็นคู่เทียบ 3 ราย แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อนิสสันรายเดียวที่ผลิตบีอีวีรุ่นนิสสัน ลีฟ ทำให้ไม่สามารถเปิดประกวดราคาแบบมีคู่เทียบแข่งกันได้ ต่อมาสำนักงบประมาณได้แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเติมรายละเอียดเรื่องกำลังเครื่องยนต์หน่วยกิโลวัตต์ จากเดิมกำหนดเฉพาะซีซี แต่การกำหนดนี้คือรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (พีเอชอีวี) ไม่ใช่บีอีวีอยู่ดี อาทิ รถยนต์ระดับอธิบดี ที่กำหนดปริมาตรกระบอกสูบไม่เกิน 2,500 ซีซี หรือกำลังเครื่องยนต์สูงสุดไม่เกิน 160 กิโลวัตต์ ราคาไม่เกิน 1.6 ล้านบาท ทำให้การแก้ปัญหาไม่ได้ผล
ขณะเดียวกัน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้ระบุว่า ภาครัฐควรมีแนวทางส่งเสริมด้านความต้องการให้ประชาชนสามารถซื้อยานยนต์ไฟฟ้าได้ก่อนในช่วงแรกและในราคาที่เหมาะสม โดยใช้รูปแบบสนับสนุนทางการเงินหรือลดภาษีในการจัดซื้อจัดหายานยนต์ไฟฟ้า อาทิ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการต่อทะเบียนประจำปี การลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลประจำปี และภาษีนิติบุคคลประจำปี และการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งสาธารณะก็ควรสนับสนุนให้เปลี่ยนรถโดยสาร รถตุ๊กๆ
รถแท็กซี่เป็นยานยนต์ไฟฟ้า เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ควรเปลี่ยนเป็นรถโดยสารไฟฟ้า ควบคู่กับการสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบการที่พร้อมจัดหายานยนต์สาธารณะไฟฟ้า เช่น ขสมก.มีแผนเช่ารถโดยสารไฮบริดดีเซล 400 คัน หรือจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า 35 คัน.