กนง.จับตาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กนง.จับตาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์

Date Time: 4 ต.ค. 2561 08:26 น.

Summary

  • นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงินเดือน ก.ย.2561

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

หวั่นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน กดเศรษฐกิจไทยปีหน้าทรุดหนัก

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงินเดือน ก.ย.2561 ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้จะขยายตัวได้ 4.4% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% มาจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่คาดว่ามีนักท่องเที่ยวสูงถึง 40.6 ล้านคน

ขณะที่ในปี 2562 เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงกว่าปีที่ผ่านมา โดย กนง.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าลงเหลือ 3.5% จากเดิมคาด 3.6% ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯที่อาจเข้มข้นขึ้น

ส่งผลให้เกิดการตอบโต้จากหลายประเทศ นอกจากนี้ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีความไม่แน่นอนและอาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงภาคเศรษฐกิจจริงได้ รวมทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของจีน แม้การกำกับดูแลของทางการจีนจะมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น แต่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีหน้า มีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดย กนง.ปรับการคาดการณ์การส่งออกในปีหน้า ขยายตัวได้ 4.2% จากเดิมคาด 5% เนื่องจากได้รับผลกระทบ

จากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน กนง.ยังติดตามราคาน้ำมันดิบดูไบหากสิ้นปีนี้แตะที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปัจจุบันคาดการณ์ที่ 70.3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ เนื่องจากราคาน้ำมันเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ กนง.ยังติดตามความเปราะบางในระบบการเงิน โดยเฉพาะการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง สะท้อนจากบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (LTV) เกิน 90% เพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ (LTI) สูงขึ้น และการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ