กกร.ปรับจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจฐานรากทิศทางบวก
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ใหม่เป็น 4.3-4.8% จากเดิมที่คาดไว้จะขยายตัว 4.0-4.5% ขณะที่การส่งออกก็คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 7-10% จากเดิม 5-8% เงินเฟ้อทั่วไปเป็น 0.9-1.5% จาก 0.7-1.2% เพื่อให้เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่ามีปัจจัยบวกที่จะช่วยหนุน ทั้งการเติบโตของการส่งออกและเศรษฐกิจไทยช่วง 6 เดือนหลังยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อ
สำหรับประเด็นผลกระทบที่จะมาจากเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยได้ติดตามมาตรการการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ อาทิ จีน สหภาพยุโรป เม็กซิโก แคนาดา อินเดีย ตุรกี และมีความไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด แต่ประเมินว่าข้อพิพาทดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ ทั้งด้านบวกและลบ
นายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระดับราคาสินค้าภาคการเกษตรที่เริ่มดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อของคนไทยเริ่มฟื้นตัว โดยจะเห็นว่ายอดขายรถปิกอัพเติบโตเพิ่มขึ้นมาก และการกระจายตัวของเศรษฐกิจที่จะลงไปยังฐานราก มีทิศทางดีขึ้น เพราะรัฐบาลพยายามเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงไปยังภูมิภาค แต่กระบวนการอาจติดขัด ปัญหานี้รัฐบาลจึงต้องวิเคราะห์เพื่อแก้ไข
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.มีมติให้ฝ่ายวิชาการศึกษาวิเคราะห์รายได้ต่อหัวประชากรของไทย (GDP Per Capita) ที่ปัจจุบันคนไทยมีรายได้ต่อคนต่อปีเฉลี่ย 5,900-6,000
เหรียญสหรัฐฯเท่านั้น โดย ส.อ.ท.ได้เสนอแนะให้จัดทำเป็นแยกเป็นรายภูมิภาคให้ละเอียด จะได้นำมารายงานต่อที่ประชุม
กกร.ต่อไป โดยผลการศึกษาอาจเป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณให้ตรงจุด
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ เติบโตระดับ 8% แต่เริ่มมีสัญญาณจากปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างประเทศ หลังจากสหรัฐฯใช้มาตรการทางการค้าด้วยการขึ้นภาษีสินค้ากับทั่วโลก คาดว่าจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในไตรมาส 4 เป็นต้นไป.