“พาณิชย์” รับแล้ว “สงครามการค้า” ทำส่งออกทรุด
“พาณิชย์” ยอมรับเครื่องซักผ้าโซลาร์เซลล์ ยอดส่งออกไปสหรัฐฯช่วง 5 เดือนลดวูบ หลังมะกันใช้มาตรการกำหนดโควตาภาษีนำเข้า แต่ผลกระทบยังไม่มาก พร้อมสั่งทำบัญชีสินค้าจับตาใกล้ชิด หวั่นสินค้ามะกัน–จีน ทะลักเข้าไทย ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง เตรียมใช้มาตรการแก้ปัญหา ขณะที่กลุ่มเหล็กได้รับผลกระทบแล้ว คาดปีนี้ยอด ส่งออกไปสหรัฐฯหายไป 6 พันล้านบาท
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องถึงการออกมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของสหรัฐฯว่า จากการพิจารณาเบื้องต้นพบว่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการของ สหรัฐฯแล้ว โดยเฉพาะเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์ที่สหรัฐฯ กำหนดโควตาภาษีนำเข้าตั้งแต่ช่วงต้นปี 61 โดยพบว่า ในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปีนี้มูลค่าการส่งออกแผง โซลาร์เซลล์ลดลงถึง 50% และเครื่องซักผ้าลดลง 30% แต่ 2 รายการ มูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯไม่มากนัก
“ผลกระทบยังไม่มากนัก เพราะสินค้าทั้ง 2 รายการส่งออกไปสหรัฐฯมูลค่าไม่มากนัก และ เป็นสินค้าของผู้ส่งออกรายใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการรายเล็ก (เอสเอ็มอี) ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเป็นห่วงว่าการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับประเทศต่างๆ จะขยายวงกว้างมากขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน ยังห่วงว่าอาจมีสินค้าจากทั้งสหรัฐฯและจีน ที่ไม่สามารถส่งออกไปยังทั้ง 2 ประเทศได้ทะลักเข้าสู่ไทยมากขึ้น จึงได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ จัดทำบัญชีรายการสินค้าจับตาอย่างใกล้ชิด (วอทช์ลิสต์) เพื่อจับตาปริมาณการนำเข้ามาไทยว่าเพิ่มขึ้นอย่างไรเพื่อจะได้กำหนดมาตรการแก้ปัญหา เช่น มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี/ซีวีดี) เป็นต้น โดยให้กรมการค้าต่างประเทศนำบัญชีวอทช์ลิสต์ มาเสนอตนภายใน 10 วัน
สำหรับสินค้าที่น่าเป็นห่วงว่าจะทะลักเข้าไทย เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์จากจีน รวมถึงสินค้าเกษตรบางรายการจากสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งหากนำเข้ามามากผู้ผลิตภายในของไทยจะได้รับความเสียหายได้ โดยเฉพาะเกษตรกร จึงสั่งการให้กรมการค้าภายใน เฝ้าติดตาม และเตรียมหามาตรการแก้ปัญหาในส่วนของสินค้าเกษตรด้วย ขณะเดียวกัน สั่งให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับภาคเอกชนหาตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดจีนและสหรัฐฯ และให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ดูแลเรื่องป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
“อีกประเด็นที่น่าห่วงคือ อาจมีสินค้าส่งออกมาไทย แล้วสวมสิทธิไทยส่งออกต่อไปตลาดสหรัฐฯ ซึ่งหากตัวเลขส่งออกสินค้าที่มีการสวมสิทธิไทยส่งออกสูงขึ้นมาก อาจทำให้สหรัฐฯใช้มาตรการตอบ โต้สินค้าไทยได้ ตรงนี้ได้ให้กรมการค้าต่างประเทศไปดูแล และหาทางรับมือเช่นกัน” น.ส.ชุติมากล่าว
ด้านนายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบแล้วจากการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ และคาดว่าปีนี้การส่งออกเหล็กของไทยไปสหรัฐฯปี 61 จะหายไปประมาณ 200,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 6,000 ล้านบาท จากปกติที่มีการส่งออก 300,000 ตัน มูลค่า 10,000 ล้านบาท และห่วงว่า เหล็กจากทั่วโลกที่ถูกสหรัฐฯใช้มาตรการทางภาษีประมาณ 35 ล้านตัน จะทะลักเข้ามาในไทย ซึ่งได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ทำวอทช์ลิสต์เป็นรายสินค้า เพื่อติดตามปริมาณการนำเข้า และใช้มาตรการป้องกัน เช่น เซฟการ์ด
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบการส่งออกเหล็กของไทยไปสหรัฐฯล่าสุด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ ท่อเหล็ก ซึ่งได้รับการยกเว้นเก็บภาษี 25% เป็นรายบริษัท กลุ่มสองคือ เหล็กรีดเย็น ที่ใช้ทำทินเพลตผลิตกระป๋อง พบว่าผู้ประกอบการ ไทยได้ยื่นขอยกเว้นกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แต่ผู้นำเข้าสหรัฐฯคัดค้าน ทำให้ยังไม่สามารถส่งออกได้ ซึ่งกลุ่มนี้ไทยส่งออกไปสหรัฐฯปีละ 60,000 ตัน มูลค่า 1,400 ล้านบาท และกลุ่มสามคือ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ที่มีการสวมสิทธิไทยส่งออกไปสหรัฐฯซึ่งได้แจ้งให้กระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาการสวมสิทธิ แล้ว เพราะเกรงอาจเป็นปัญหากับไทยได้.