กลุ่มทรู เลือกเล่นเกมไม่ร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz เพราะราคาประมูลแพง ไม่อยากร่วมดันราคา ย้ำมีคลื่นมากถึง 55 MHz รองรับลูกค้ามือถือได้อีกเท่าตัว
หลังจากที่กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไปรับเอกสารการประมูลคลื่น 1800 MHz ในนามบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ล่าสุด ทรู ซึ่งให้บริการโทรศัพท์มือถือภายใต้แบรนด์ ทรูมูฟ เอช ประกาศว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้
ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท (ร่วม) ทรู คอร์ปอเรชั่น ชี้แจงว่า จากการพิจารณารายละเอียดของการประมูล คณะผู้บริหารพิจารณาว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ
1. เรื่องปริมาณคลื่นความถี่ที่ ทรูมูฟ เอช มีอยู่ในปัจจุบันที่มีมากถึง 55 MHz ยังมากเพียงพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และเมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพการให้บริการของผู้ประกอบการรายอื่นในประเทศแล้ว ปริมาณคลื่นของทรูมูฟ เอช ยังคงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้ต่อไปในอนาคต รวมทั้งจะรักษาประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าในเรื่องการใช้งานทั้งวอยซ์ และดาต้าที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน
2. จากการพิจารณารายละเอียดกฎเกณฑ์การประมูลตามเอกสารแล้ว ทั้งเรื่องราคาและข้อกำหนดต่างๆ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ชนะประมูลในครั้งนี้จะมีความได้เปรียบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
3. ที่สำคัญคือความเชื่อของกลุ่มทรูในเรื่องของการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ที่จะไม่เข้าร่วมประมูลเพียงเพื่อจะทำให้ราคาสูงผิดปกติเกินกว่าความเป็นจริง หรือสร้างภาระทางการเงินให้แก่ผู้ชนะประมูลแต่อย่างใด
ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น บริษัทฯ จึงพิจารณาว่า ยังไม่มีเหตุผลที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้
สำหรับเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ครั้งนี้ กสทช.เตรียมไว้ 45 MHz แบ่งเป็น 3 ชุด ชุดละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต โดยผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 1 ชุดคลื่นความถี่ กำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน โดยใช้สูตร N-1 คือมีผู้ประมูลเกินใบอนุญาตอย่างน้อย 1 ราย
ใบอนุญาตมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท หากมีการทิ้งการประมูล สำนักงาน กสทช. จะยึดหลักประกันการประมูล 1,880 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,620 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท