5 ปีสงครามน่านฟ้า 'แอร์เอเชีย' ชนะ 'นกแอร์' ร่วง 'ไลอ้อนแอร์' มาแรง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

5 ปีสงครามน่านฟ้า 'แอร์เอเชีย' ชนะ 'นกแอร์' ร่วง 'ไลอ้อนแอร์' มาแรง

Date Time: 4 พ.ค. 2561 19:25 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ธุรกิจโลว์คอสต์แอร์ไลน์ของไทยแข่งเดือด 6 สายการบิน กระหน่ำซื้อเครื่องบิน ดึงผู้โดยสาร แอร์เอเชียแชมป์ทุกด้าน นกแอร์ร่วง จับตาสมรภูมิน่านฟ้าใหม่บุกเส้นทางระหว่างประเทศ

Latest


ธุรกิจโลว์คอสต์แอร์ไลน์ของไทยแข่งเดือด 6 สายการบิน กระหน่ำซื้อเครื่องบิน ดึงผู้โดยสาร แอร์เอเชียแชมป์ทุกด้าน นกแอร์ร่วง จับตาสมรภูมิน่านฟ้าใหม่บุกเส้นทางระหว่างประเทศ

ศูนย์การบิน (Centre for Aviation หรือ CAPA) สรุปภาพรวมธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำของไทย ว่าธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเครื่องบินเพิ่มรวมกัน 94 ลำ รวมเป็น 136 ลำ ณ วันที่ 30 เม.ย. 2561 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของเครื่องบินพาณิชย์ในไทยที่มีอยู่ทั้งหมด 304 ลำ

ในวันที่ 30 เม.ย.2556 ไทยแอร์เอเชีย มีเครื่องบิน 28 ลำ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2561 เพิ่มเป็น 59 ลำ อันดับ 2 คือ ไทยไลอ้อนแอร์ ซึ่งเปิดให้บริการหลังไทยแอร์เอเชีย เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2557 มี 5 ลำ แต่วันที่ 30 เม.ย.2561 เพิ่มเป็น 32 ลำ

นกแอร์ที่เคยอยู่ในอันดับ 2 ปัจจุบันมีเครื่องบินมากเป็นอับดับ 3 จากวันที่ 30 เม.ย.2556 มี 14 ลำ ปัจจุบันมี 28 ลำ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดให้บริการในปี 2558 มี 3 ลำ ปัจจุบันมี 7 ลำ นกสกู๊ตมี 2 ลำ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2558 ปัจจุบันมี 5 ลำ ไทยเวียตเจ็ท เมื่อ 30 เม.ย.2558 มี 1 ลำ ปัจจุบันมี 5 ลำ

การเพิ่มขึ้นของเครื่องบิน เพราะต้องรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นมาก ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ โดยจำนวนผู้โดยสารในประเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากปี 2555 จำนวน 11 ล้านที่นั่ง เพิ่มเป็น 33 ล้านที่นั่งในปี 2560 เพราะเศรษฐกิจเติบโต กลุ่มผู้บริโภคระดับรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้น และการเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำจนเกิดการแข่งขันกันสูง ราคาโดยเฉลี่ยของตั๋วโดยสารถูกลง หลายคนจึงเปลี่ยนมานั่งเครื่องบินแทนนั่งรถโดยสารและรถไฟ

สำหรับผู้โดยสารที่บินระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 5 ล้านที่นั่ง ในปี 2555 เพิ่มเป็น 13.5 ล้านที่นั่ง ในปี 2560 โดย 2-3 ปีที่ผ่านมา สายการบินต้นทุนต่ำได้ขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเส้นทางในภูมิภาค ด้วยเครื่องบินขนาดใหญ่ โดยมีกลุ่มแอร์เอเชียที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดถึงร้อยละ 45 ของเส้นทางบินระหว่างประเทศจากไทย

ในส่วนของเที่ยวบินสายการบินต้นทุนต่ำที่ใช้บริการ 6 สนามบินหลักของไทย คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ และภูเก็ต โดยรวมเที่ยวบินเพิ่มขึ้นร้อยละ 120 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

การเติบโตของตลาดนี้ ทำให้ปี 2561 น้ี คาดว่าสายการบินต้นทุนต่ำยังคงลงทุนเพิ่มเครื่องบิน คาดว่าจะมีรวมกันถึง 150 ลำ โดยไทยแอร์เอเชียเพิ่ม 4 ลำ นกแอร์ ยังเน้นการหมุนเวียนเครื่องที่มีอยู่เพื่อบุกตลาดจีน ส่วนนกสกู๊ต เพิ่ม 6 ลำ ซึ่งจะมีทั้งโบอิ้ง 777 และ 737

ไลอ้อนแอร์ จะนำรุ่นใหม่อย่างโบอิ้ง 737 แมกซ์ 9 มา 2 ลำ และอาจจะมี 737-800 และ 737 แมกซ์ 8 ด้วย ส่วนไทยเวียตเจ็ท ปีนี้เพิ่งจะเพิ่มแอร์บัส เอ 320 มาในฝูงบิน 1 ลำ ส่วนแผนเพิ่มอีกหรือไม่ ต้องรอบริษัทแม่ในการปรับโยกเครื่องบินมาใช้อีกครั้ง

สำหรับสงครามน่านฟ้านับจากนี้ สายการบินต้นทุนต่างมุ่งไปที่ตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศ หลังจากผ่านการเติบโตอย่างสูงมาหลายปี และไตรมาสแรกของปี 2561 ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารในประเทศเติบโตเพียงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยมากขึ้นถึงร้อยละ 15.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ