ม.หอการค้าชี้รอรับ“ส้มหล่น”ศึกการค้าสหรัฐฯ-จีน
ม.หอการค้าไทยเผยสงครามการค้าสหรัฐฯ–จีน คิดบวกลบแล้วกลายเป็นผลบวกหนุนมูลค่าการส่งออกไทยไปจีน และไทยไปสหรัฐฯเพิ่ม 8,000–20,000 ล้านบาท ช่วยส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวเพิ่ม 0.10–0.25% แตะ 7.25% แถมช่วยดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเพิ่มขึ้น 0.01–0.04%
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนต่อประเทศไทยว่า การที่ทั้ง 2 ประเทศใช้ มาตรการภาษีกีดกันสินค้าระหว่างกันทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถส่งออกสินค้าระหว่างกันได้ ส่งผลให้สินค้าจากทั้ง 2 ประเทศ ถูกส่งเข้ามาขายใน ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังจะมีผลให้ทั้ง 2 ประเทศ จะหันมานำเข้า สินค้าจากไทยมากขึ้นด้วยเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าเดิมระหว่างกัน ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมจะเป็นผลดีต่อไทยมากกว่า โดยทำให้ไทยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ถึง 8,072-20,180 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 0.10-0.25% ของการส่งออกรวม และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.01-0.04%
“ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น 10-25% จากการวิเคราะห์แล้ว พบว่ามีทั้งผลกระทบทางบวกและลบต่อไทย แต่เมื่อคิดผลกระทบทั้งสองฝั่งบวกลบกันแล้ว พบว่าส้มหล่นที่ไทย เพราะจะได้อานิสงส์ให้การส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 8,000-20,000 ล้านบาท ส่งผลให้การส่งออกของไทยปีนี้มีโอกาสแตะ 7.1-7.25% จากเป้าหมายเดิมที่ 7%”
นายอัทธ์กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์แยกเป็นกรณี พบว่าหากสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจะทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯแทนสินค้าจีนได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5,197-12,992 ล้านบาท แต่ไทย จะส่งออกสินค้าไปจีนลดลง 228-571 ล้านบาท และสินค้าจีนถูกส่งมาขายในไทยมากขึ้น 3,410-8,525 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อหักลบกันแล้วไทยจะได้ประโยชน์อยู่ 1,559-3,897 ล้านบาท
ขณะที่กรณีประเทศจีนเก็บภาษีสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 10-25% เช่นกัน พบว่าไทยจะส่งออกสินค้าไปประเทศจีนแทนสินค้าจากสหรัฐฯได้มากขึ้น 3,341-8,352 ล้านบาท แต่จะส่งออกไปสหรัฐฯได้ลดลง 238-594 ล้านบาท และมีสินค้าสหรัฐฯถูกส่งมาขายในไทยมากขึ้น 2,640-6,599 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อหักลบกันแล้ว กรณีนี้ไทยยังได้ประโยชน์อยู่ 464-6,599 ล้านบาทเช่นกัน
สำหรับกลุ่มสินค้าที่ไทยได้รับประโยชน์จาก กรณีสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ได้แก่ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าที่ไทยเสียประโยชน์ได้แก่ สารเคมี ยา เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยได้รับประโยชน์จากกรณีจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ ผลไม้ ข้าวสาลี ข้าวโพด และผลไม้แปรรูป ขณะที่สินค้าที่ไทยเสียประโยชน์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง ฝ้าย เครื่องบินและชิ้นส่วนอุปกรณ์ เป็นต้น
“ไทยต้องเร่งปรับตัวด้วยการปรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีคุณภาพสูงขึ้น แม้อนาคตอาจมีสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในไทยบ้าง แต่เชื่อว่าการใช้มาตรการมาตรฐานสินค้าเข้ามาดูแลและควบคุม จะทำให้ไทยได้สินค้ามีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งจะต้องขายสินค้าวัตถุดิบกับจีนและสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เน้นขายแค่สินค้าสำเร็จรูป เพื่อรักษาห่วงโซ่การค้าไม่ให้ห่างกัน เกินไป”
นายอัทธ์กล่าวด้วยว่า ศูนย์มีข้อเสนอแนะว่า ไทยควรสร้างห่วงโซ่การผลิตของจีนกับสหรัฐฯให้เพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบัน รวมถึงใช้โอกาสนี้สร้างความร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐฯ เช่น ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐฯ และผลักดัน
ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) หรืออาเซียน+6 ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนกรณีที่ไทยสามารถร่วมมือกับอาลีบาบาได้ มองว่าโดยรวมไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมในการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าผลไม้ ผลไม้แปรรูป ข้าว เป็นต้น.