ธุรกิจโลจิสติกส์เฟื่องฟู...ขานรับค้าออนไลน์

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธุรกิจโลจิสติกส์เฟื่องฟู...ขานรับค้าออนไลน์

Date Time: 23 เม.ย. 2561 05:30 น.

Summary

  • “ทีมเศรษฐกิจ” ขอปิดท้ายมหากาพย์พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยียุค 4.0 ที่รุกเข้ามาสู่วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกจนสามารถเปลี่ยนแปลงการดำเนินวิถีชีวิตของผู้คนและสังคม

Latest

“ขนม” ที่ไม่ใช่ แค่เรื่องของเด็กๆ เมื่อคนไทยบริโภคปีละ 5 หมื่นล้าน Brand Loyalty สูง ตลาดแข่งเดือด

“ทีมเศรษฐกิจ” ขอปิดท้ายมหากาพย์พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยียุค 4.0 ที่รุกเข้ามาสู่วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกจนสามารถเปลี่ยนแปลงการดำเนินวิถีชีวิตของผู้คนและสังคม จากสังคมดั้งเดิมสู่สังคมที่ต้องก้าวตามให้ทันเทคโนโลยี

โดย 1 ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องพลิกโฉมในระยะ 2–3 ปีที่ผ่านมาชนิดก้าวกระโดดก็คือ “ธุรกิจโลจิสติกส์” และ “การขนส่งสินค้า” เมื่อตลาดการค้าออนไลน์ หรือ “อี–คอมเมิร์ซ” ก้าวรุกเข้ามาสู่วิถีชีวิตของผู้คน พลิกรูปแบบค้าปลีกไปสู่การซื้อขายและชำระเงินผ่านเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์

โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ได้ประเมินมูลค่าการซื้อขายผ่านออนไลน์ในปี 2561 นี้จะพุ่งทะลุเกิน 3 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2.4 ล้านล้านบาท ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ และการขนส่งสินค้ากลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงเป็นเงาตามตัว ด้วยเหตุที่การจัดการขนส่งสินค้าจากผู้ขายไปถึงมือผู้ซื้อยังคงต้องพึ่งพาการขนส่งสินค้าเป็นหลัก!!!

อานิสงส์ของธุรกิจค้าออนไลน์ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดได้ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้าเติบโตตามมาติดๆ ยิ่งกิจกรรมซื้อขายบนโลกออนไลน์ขยายตัวมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าไปยังผู้รับมากขึ้นเท่านั้น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์หลากหลายสายพันธุ์ต่างกระโจนเข้าสู่ตลาด “อี–คอมเมิร์ซ” ในไทยชนิดที่ต้องใช้คำว่า “Extreme Red Ocean”

โดยนอกจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) แล้ว คู่แข่งสำคัญในปัจจุบันประกอบด้วย Kerry Express สัญชาติฮ่องกง, SCG Express ที่จับมือกับบริษัทขนส่งสัญชาติญี่ปุ่น “แมวดำ”, นิ่มซี่เส็ง ขาใหญ่แห่งการขนส่งทางภาคเหนือที่รุกไปทั่วทุกภูมิภาค, บริษัท พัสดุภัณฑ์ไทย จำกัด และ DHL Express ยักษ์ใหญ่ ขนส่งข้ามทวีปจากเยอรมัน

แม้แต่การรถไฟ และ บริษัทขนส่งวันนี้ต่างหันมาปรับปรุงระบบรองรับการขนส่งพัสดุเพื่อสร้างรายได้เพิ่มไม่เว้นแม้แต่ “ม้าเร็ว” เดลิเวอรี่ หรือ “แมสเซ็นเจอร์” ที่เคยให้บริการรับส่งสินค้าขนาดย่อมๆ วันนี้ก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่จากการก้าวรุกของ “ไลน์แมน” “อูเบอร์อีทส์” และเจ้าอื่นๆ

“ทีมเศรษฐกิจ” ขอประมวลภาพรวมของธุรกิจโลจิสติกส์และจัดการขนส่งในยุคที่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ ดังนี้ :

***********

“โลจิสโพสต์”...วิ่งสู้ฟัดรักษาฐาน

สำหรับกิจการ “ไปรษณีย์ไทย” ที่เกือบจะกลายเป็นอดีตจากเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลที่รุกคืบเข้ามากัดกร่อน (Disruption) จากบริการจัดส่งจดหมายติดแสตมป์และไปรษณียภัณฑ์ที่ลดลง แต่ไปรษณีย์ไทยก็สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส พลิกโฉมการจัดการขนส่งให้รองรับตลาด “อี–คอมเมิร์ซ” ที่กำลังโตวันโตคืนได้

โดย พลเอกสาธิต พิธรัตน์ ประธานกรรมการไปรษณีย์ไทย กล่าวกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยมีรายได้ 27,800 ล้านบาท กำไร 4,200 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าจะมีรายได้เฉียด 30,000 ล้านบาท กำไรกว่า 4,400 ล้านบาท

โดยธุรกิจโลจิสติกส์และรับส่งพัสดุของไปรษณีย์ไทย ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ราว 50% จากมูลค่าตลาดรวม 30,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตปีละ 10-20% ตามการขยายตัวของธุรกิจ “อี–คอมเมิร์ซ” โดยแต่ละวันไปรษณีย์จะให้บริการส่งพัสดุด่วนราว 8-10 ล้านชิ้น ซึ่งขณะนี้ไปรษณีย์ได้นำระบบคัดแยกอัตโนมัติมาใช้งานเพื่อความรวดเร็ว แม่นยำ ลดจำนวนพนักงานคัดแยกลง แต่หันไปเพิ่มพนักงานนำจ่ายให้มากขึ้น พร้อมอุปกรณ์นำจ่ายที่รวดเร็วสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม แม้ไปรษณีย์ไทยจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่งพัสดุ แต่สัดส่วนการเติบโตก็มีแนวโน้มลดลงจากเดิม 70% มาอยู่ที่ 50% ในปัจจุบัน นั่นเพราะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดจากคู่แข่งที่รุกคืบเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด!

ชูจุดแข็งเครือข่ายครอบคลุม

ประธานกรรมการไปรษณีย์ไทย ยังกล่าวถึงการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่งพัสดุที่ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของไปรษณีย์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนี้ว่า ยอมรับว่าการจะประคับประคองธุรกิจไปรษณีย์ไทยให้มีรายได้เพิ่ม หรือมีส่วนแบ่งการตลาดกลับไปอยู่ ณ จุดเดิมหรือกระทั่งรักษาส่วนแบ่งการตลาดให้คงเดิม ถือเป็น “โจทย์ที่ท้าทาย” สำหรับกิจการไปรษณีย์ไทยในขณะนี้

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้กับฝ่ายบริหารไปดำเนินการปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการจัดส่งพัสดุกรณีผู้รับไม่อยู่บ้านว่าจะสามารถจัดส่งให้ได้อย่างไรเพื่อให้ถึงมือผู้รับโดยเร็วที่สุด รวมถึงเปิดแอพพลิเคชั่น “พร้อมโพสต์ Prompt Post” ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า C2C สามารถจ่าหน้าซอง/กล่องและสร้างบาร์โค้ดจากระบบอัตโนมัติได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ ยังเพิ่มบริการพร้อมส่ง (กล่องสีฟ้า) ในราคาเหมาจ่ายทั่วประเทศที่ช่วยประหยัดเวลาส่งได้ไม่ต้องรอคิวด้วยช่องบริการพิเศษ (Fast Track) ช่วยจัดเตรียมการ ฝากส่งล่วงหน้าให้ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซโดยเฉพาะ รวมถึงเข้าไปช่วยสนับสนุนการค้าออนไลน์สินค้าชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

“สำหรับไปรษณีย์ไทยแล้วอยู่คู่กับคนไทย อยู่คู่ชุมชนและสังคมไทยมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี ถือเป็นจุดแข็งของไปรษณีย์ที่มีเครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์ราว 1,500 แห่ง และตัวแทนเอกชนอีก 5,000 แห่ง มีบุรุษไปรษณีย์ราว 20,000 คน รู้จักทุกพื้นที่ของประเทศ ฉะนั้นไปรษณีย์ไทยต้องใช้จุดแข็งแกร่งของตัวเองมาสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้านำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มในทุกๆปี เพื่อความยั่งยืนขององค์กรต่อไป”

“เคอร์รี่–เอสซีจี” หายใจรดต้นคอ!

ด้านความเคลื่อนไหวของผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าและโลจิสติกส์เจ้าอื่นๆ ก็เข้มข้นไม่แพ้กัน เริ่มจาก “เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส” จากฮ่องกง ที่เข้ามาลงหลักปักฐานถึงขั้นจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยมานับสิบปี มีเครือข่ายบริการที่ครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย

โดยบริการจัดส่งพัสดุด่วน “เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส” ครองใจผู้ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ดูได้จากปลายปีที่ผ่านมาได้รับการโหวตให้เป็น “ธุรกิจออนไลน์ขวัญใจคนไทยแห่งปี 2560” สาขาการบริหารจัดส่งสินค้าเยี่ยมยอดครองใจมหาชนจาก “สำนักงานพัฒนาธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)” หรือ ETDA

ล่าสุด “เคอร์รี่” ได้ประกาศเพิ่มงบลงทุนกว่า 800 ล้านบาท เพื่อตอกย้ำศักยภาพความเป็นผู้นำในด้านการให้บริการจัดส่งพัสดุด่วน ด้วยการประกาศความเป็น “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ทุกที่ ทั่วไทย” เพื่อขยายเครือข่ายบริการจัดส่งพัสดุเร่งด่วนภายใน 1 วันในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และเพิ่มจุดให้บริการใหม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศพร้อมประกาศจะเพิ่มสาขาให้บริการจาก 1,500 สาขาขึ้นเป็น 2,500 สาขาภายในปี 2561 นี้

อีกรายที่กำลังมาแรงคือ “เอสซีจี โลจิสติกส์” ที่ผันตัวเองมาจากการขนส่งปูนซีเมนต์นั้น นิธิ ภัทรโชค ผู้จัดการใหญ่-ตลาดในประเทศธุรกิจเอสซีจีซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ กล่าวกับเราว่า ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจโลจิสติกส์ของเอสซีจีเติบโต 7% ด้วยมูลค่า 16,000 ล้านบาท ยอดการให้บริการ 1.7 ล้านเที่ยว และยอดขนส่งสินค้า 3.6 ล้านตัน

ส่วนปีนี้ตั้งเป้าการเติบโต 10% ด้วยเป้าหมายรายได้กว่า 17,000 ล้านบาท โดยเอสซีจี มีบริการขนส่ง 2 รูปแบบ คือ SCG Logistic ให้บริการโลจิสติกส์แบบบริษัทสู่บริษัท (B 2B) ขณะที่ SCG Express ธุรกิจโลจิสติกส์แบบ B2C และ C2C ที่ร่วมมือกับ Yamato Asia หรือ “แมวดำ” จากญี่ปุ่น ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา

“เอสซีจีโลจิสติกส์ได้เตรียมงบลงทุนในส่วนโลจิสติกส์ไว้ 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาธุรกิจในเครือโลจิสติกส์ โดยเฉพาะเอสซีจี เอ็กซ์เพรส ที่เป็นบริการแบบ B2C จะใช้เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เพื่อขยายจุดให้บริการให้ครบทั่วประเทศภายในครึ่งปีนี้ จากปัจจุบันที่มีจุดบริการแล้ว 500 สาขา กระจายตามหัวเมืองต่างๆ ใน 40 จังหวัด แผนงาน ดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้”

DHL–ลาล่ามูฟ–ไลน์แมนมาแรง!

ด้านยักษ์ใหญ่ DHL จากเยอรมัน ที่เข้ามาปักหลักในไทยนับสิบปี และมีจุดแข็งจากเครือข่ายที่มีอยู่ทุกประเทศสามารถให้บริการส่งสินค้าไปต่างประเทศได้ทั่วทุกภูมิภาคของโลก เฉพาะในประเทศไทยนั้น DHL มีคลังสินค้ากว่า 70 แห่ง พื้นที่รวม 650,000 ตร.ม. มีพนักงานกว่า 10,000 คน ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น ระบบการทำงานอัตโนมัติและวิทยาการหุ่นยนต์ รถยกสินค้าแบบไร้คนขับ ระบบหยิบสินค้าแบบ “วิชั่นพิกกิ้ง”

เมื่อตลาดค้าขายออนไลน์ในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง “ดีเอชแอล” จึงผุด DHL eCommerce ประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นการรองรับการเจริญเติบโตของธุรกิจ และยกระดับมาตรฐานการจัดส่งให้มีคุณภาพให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ และเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในการให้บริการด้านโลจิสติกส์สำหรับผู้ประกอบการออนไลน์”

อีกหนึ่งผู้เล่นในธุรกิจโลจิสติกส์คือ “ลาล่ามูฟ” ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยกว่า 2 ปี วางจุดยืนเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้า “ออน ดีมานด์” ตลอด 24 ชั่วโมง ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นและมี “โมเดล” ทางธุรกิจแบบแชริ่ง หาพาร์ตเนอร์คนขับรถในแต่ละท้องถิ่นแล้วแบ่งรายได้

โดยลาล่ามูฟนั้นมีรถให้บริการ 3 รูปแบบทั้งมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ และรถยนต์ 5 ประตู ค่าบริการมอเตอร์ไซค์เริ่มต้น ที่ 48 บาท จากนั้นคิดตามระยะทางกิโลเมตร (กม.) ละ 7.2 บาท สามารถส่งสินค้าถึงมือผู้รับได้ภายใน 1 ชั่วโมง กลุ่มผู้ใช้บริการจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ ธุรกิจเอสเอ็มอี และค้าออนไลน์

สุดท้ายที่กำลังอินเทรนด์ พ.ศ.นี้ก็คือ “ไลน์แมน” (Lineman) แอพพลิเคชั่นผู้ช่วยที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนเมือง ตลาด 24 ชั่วโมง เป็นบริการใน รูปแบบ O2O (ออนไลน์สู่ออฟไลน์) กับ 3 บริการหลักในขณะนี้ ได้แก่ แมสเซ็นเจอร์ สั่งซื้ออาหารโดยเฉพาะ Street food และสั่งของสะดวกซื้อ ซึ่งนอกจากบริการของ Lineman แล้ว ยังมี Foodpanda และ Uber EATS ที่ต่างก็เน้นบริการจัดส่งอาหารตอบสนองความต้องการของคนเมืองโดยเฉพาะ

“อาลีบาบา” กับ “E–Com-merce HUB”

กับการเข้ามาของ “แจ็ค หม่า” เจ้าพ่อ “อาลีบาบา กรุ๊ป” ยักษ์อี–คอมเมิร์ซของจีน ล่าสุดที่เพิ่งลงนามกับรัฐบาลไทยเพื่อประเดิมการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 4 โครงการใหญ่ด้วยมูลค่า ลงทุน 11,000 ล้านบาทนั้น

ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะช่วยผลักดันสินค้าเกษตร โอทอปรวมทั้งช่วยผลักดันตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” ของไทยโกอินเตอร์ไปสู่ตลาดจีนที่มีประชากรที่มีกำลังซื้อมากกว่า 350 ล้านคนได้ โดย “อาลีบาบา” ได้เตรียมแผนก่อสร้างโครงการ Smart Digital Hub ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าลงทุนกว่า 11,000 ล้านบาท ที่จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2561-2562 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะประกอบไปด้วย Digital Platform ศูนย์กระจายสินค้า, การขนส่งที่จับมือกับทางไปรษณีย์ไทย รวมถึงการลงทุนด้านไอที ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยได้เข้าไปร่วม

โดย Smart Digital Hub เป็นโครงการที่จะอาศัยเทคโนโลยีด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นๆทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประเทศไทยทะยานไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการค้า “อี-คอมเมิร์ซ” ได้ไม่ยาก และคาดหวังว่าจะกรุยทางให้ไทยก้าวไปสู่ศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ได้ไม่ยาก

ทั้งหมดคือภาพรวมของตลาดโลจิสติกส์ที่กำลังเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงในยุคดิจิทัล!!!

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ