นับตั้งแต่อินเตอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเมื่อ 49 ปีก่อน วิวัฒนาการของมันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะต่อความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของมนุษย์ในยุคหลัง
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือ World Wide Web (www.) อีเมล ไปจนถึงการค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ตบนโลกออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) และการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งยิ่งใหญ่ ที่เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ การใช้ชีวิต การติดต่อสื่อสาร ตลอดจนการค้าขาย ไปอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ต ซึ่งเริ่มต้นจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ ขยายขอบเขตครอบคลุมอุปกรณ์หลากหลายยิ่งขึ้น
และเป็นที่มาของเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) หรืออินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ของโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
IoT ทำงานอย่างไร และจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง โดยเฉพาะต่อผู้บริโภค “ทีมเศรษฐกิจ” ใคร่ขอหยิบยก แยกแยะ ข้อมูลออกมา ให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกันอย่างสบายๆ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยนี้
Internet of Things คือการนำอินเตอร์เน็ตไปฝังอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ให้สามารถรับ-ส่งข้อมูล เชื่อมต่อและสั่งการระหว่างกันได้
โดยทั่วไปเราอาจคุ้นเคยแต่กับอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอย่างคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือนาฬิกา แต่ปัจจุบันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิด สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้เกือบทั้งนั้น
โดยนอกจากฟังก์ชันการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น อุปกรณ์เหล่านั้นยังสามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้ สร้างความสะดวกสบายให้กับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน
ยกตัวอย่าง โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้ายอดนิยมประจำบ้าน ผู้ผลิตทีวีเบอร์ 1 ของโลกอย่างซัมซุง กำลังดิ้นรนอย่างหนัก เพื่อที่จะทำให้คนยังต้องซื้อทีวีและเปิดใช้ทีวีให้มากขึ้น
ความนิยมในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งซัมซุงก็เป็นผู้ผลิตเบอร์ต้นๆนั้น ทำให้คนดูทีวีน้อยลง ซัมซุง ในฐานะที่ขายทีวีให้กับคนทั่วโลก ทำการวิจัยพบว่าสิ่งที่คนไม่ชอบเกี่ยวกับทีวีก็คือ สายไฟ สายเคเบิล ที่ต่อเชื่อมระโยงระยางอยู่ด้านหลัง ทำให้บ้านดูรก
ทีวีซัมซุงรุ่นล่าสุด จึงถูกออกแบบให้เก็บด้านหลังแบบเรียบวุธ ใช้สายเส้นเดียวต่อได้ทั้งไฟ เคเบิล อินเตอร์เน็ตเบ็ดเสร็จ แก้ปัญหาสายระโยงระยางด้านหลังแบบม้วนเดียวจบ
นอกจากความพยายามในการดีไซน์ทีวี ให้ดูคล้ายเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน รวมไปถึงกรอบรูป เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้กับสินค้า
ซัมซุงทำการวิจัยต่อมา พบว่าทีวีไม่ว่าแพงหรือถูก จะถูกปิดหรือทิ้งจอดำไว้ถึง 80% นั่นหมายถึงถูกใช้งานเพียง 20% ถือว่าไม่คุ้มค่า
ยิ่งคนหันไปดูหนัง ดูละครผ่านหน้าจอมือถือกันหมด โจทย์ของซัมซุงก็คือ จะทำอย่างไรให้ทีวีสู้กับมือถือ ซึ่งเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวได้
ทีวีในยุคหลังๆ ของซัมซุง จึงถูกพัฒนาให้เป็นสมาร์ททีวี นอกจากเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เข้าไปรับชมวีดิโอผ่านยูทูบ หรือแชตเฟซบุ๊กไปในคราวเดียวกันได้แล้ว ยังมีโหมดอัจฉริยะ ทำให้จอทีวีเปรียบได้กับหน้าต่างสู่โลก แสดงรายงานพยากรณ์อากาศ รายงานข่าวพาดหัวประจำวัน เป็นหน้าจอแสดงงานศิลปะ ไปจนถึงเป็นเครื่องเล่นเพลง
นอกจาก IoT จะทำให้อุปกรณ์ทำงานได้หลากหลายมากขึ้นแล้ว การช่วยให้อุปกรณ์ทำงานเชื่อมต่อระหว่างกัน ยังทำให้มันเป็นเทคโนโลยีที่มาแรงที่สุดแห่งยุค
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและจับต้องได้มากที่สุด คือเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมหรือบ้านอัจฉริยะ ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ตลอดจนผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ภายในบ้าน กำลังทำงานกันขะมักเขม้นเพื่อแจ้งเกิดเทคโนโลยีนี้ให้ได้
สมาร์ทโฮมเป็นแนวคิด บ้านที่สร้างความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยโดยไม่จำเป็นต้องมีแม่บ้าน เริ่มตั้งแต่ตื่นนอน หน้าจอสมาร์ททีวีจะรายงานสภาพอากาศ ข่าวสารที่น่าสนใจในตอนเช้า รวมทั้งสภาพการจราจร โดยที่ไม่ต้องเปิดทีวีด้วยซ้ำ
มาถึงช่วงอาหารเช้า ระบบตู้เย็นอัจฉริยะ ซึ่งเชื่อมต่อทั้งอินเตอร์เน็ตและมีกล้องอยู่ภายใน จะแนะนำเมนูอาหารที่น่าสนใจ ประเมินจากอาหารที่อยู่ในตู้เย็น เมื่อประกอบกับเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ ตู้เย็นยุคใหม่จะชาญฉลาดถึงขั้นสามารถแนะนำเมนูที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เมนูไหนซ้ำ กินบ่อย ก็จะสามารถเสนอเมนูอื่นเป็นทางเลือก นอกเหนือจากการตรวจจับว่าอาหารสดใดที่ใกล้หมดอายุ และแจ้งเตือนให้รับทราบ
ระหว่างอยู่ที่ทำงาน เจ้าของบ้านสามารถสั่งเครื่องซักผ้าให้ซัก ปั่น อบ ผ้าให้แห้งได้ก่อนกลับบ้าน (แน่นอนว่าต้องเอาผ้าใส่เครื่องไว้ก่อน แต่จะสั่งงานให้ซักเวลาใดก็ได้ ผ่านทางมือถือ) รวมทั้งการสั่งให้หุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดบ้าน ในช่วงเวลาใดก็ได้ที่ต้องการ
ก่อนกลับบ้าน หากต้องการแวะซื้อของเข้าบ้าน สามารถใช้โทรศัพท์กดสำรวจข้าวของภายในตู้เย็น อะไรขาดเหลือเท่าไร เพราะตู้เย็นมีกล้องให้คอยตรวจสอบ ก่อนถึงบ้านถ้ากลัวจะร้อน แอร์เย็นไม่ทัน สามารถสั่งให้แอร์เปิดรอไว้ผ่านมือถือได้เลย นอกเหนือจากการเปิดไฟ เปิดประตูบ้าน ซึ่งดูเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว
นอกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ๆ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังมีผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดย่อมหลายราย พยายามเกาะติดกระแส IoT พัฒนาอุปกรณ์ที่จะสามารถเชื่อมต่อการใช้งานระหว่างกัน เข้าท่าบ้าง ไม่เข้าท่าบ้าง
เราจึงได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในบ้าน เช่น แปรงสีฟันอัจฉริยะ เครื่องปิ้งขนมปังอัจฉริยะ ไปจนถึงส้วมอัจฉริยะ ซึ่งสั่งการด้วยเสียงได้ผ่านลำโพง อัจฉริยะ ทั้ง Alexa ของค่ายอเมซอน หรือ Google Assistant ตลอดจน Siri ของแอปเปิล
โดยส้วมอัจฉริยะของ Kohler ล่าสุด สามารถสั่งการด้วยเสียงให้กดชักโครก ยกฝาที่นั่งชักโครก หรือพ่นสเปรย์กำจัดกลิ่น ไม่รวมการสั่งให้เล่นเพลงโปรด และเก็บข้อมูลการใช้น้ำในแต่ละวัน
ในมุมของผู้บริโภค เทคโนโลยีนอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ตอบสนองไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ รองรับแรงงานแม่บ้านที่ขาดแคลนและหายากขึ้นทุกวันแล้ว
เทคโนโลยียังช่วยบริหารจัดการต้นทุน รวบรวมข้อมูลการใช้งาน นำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ตู้เย็นอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยเตือนอาหารหมดอายุ แทนที่จะปล่อยให้เสีย หรือส้วมอัจฉริยะซึ่งช่วยเก็บข้อมูลการใช้น้ำอย่างเป็นระบบ
แต่หากมองในมุมของคนขายหรือนักการตลาด แน่นอนว่าการเชื่อมต่อลูกค้ากับอินเตอร์เน็ตนั้น ทำให้การจัดเก็บข้อมูลทำได้อย่างมีระบบและเรียลไทม์ ต้องไม่ลืมว่าฐานข้อมูลลูกค้า เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล
ขณะเดียวกัน เมื่อลูกค้าเสพติดความสะดวกสบาย ความลื่นไหลในการใช้งานอุปกรณ์หลากหลายที่เชื่อมต่อกัน และสามารถสั่งการได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนความยึดติดในแบรนด์และบริการ จะมีมากขึ้นจนขาดไม่ได้ (Structuring Bonding) ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อการขายสินค้า
นอกจากการใช้งานในระดับผู้บริโภคแล้ว ขยับขึ้นไปในระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม IoT ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์นานัปการ เช่น การตรวจสอบสถานะการทำงานของเครื่องจักรจากระยะไกล ระบบตรวจสอบสุขภาพของผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล การติดตามอาการของผู้ป่วยเรื้อรังที่อาศัยอยู่ที่บ้านและไม่สะดวกที่จะมาโรงพยาบาล ระบบการขนส่งที่สามารถรับรู้สภาพจราจรและเปลี่ยนแปลงเส้นทางได้อย่างฉับไว เพื่อช่วยประหยัดพลังงานและเวลาในการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน IoT ยังถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะต่อผู้บริโภคในประเทศไทย ขณะที่บริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ เริ่มทยอยนำมาใช้เพื่อช่วยในการบริหาร จัดการที่มีประสิทธิภาพ
แต่สำหรับในสหรัฐอเมริกา ระบบสมาร์ทโฮม ตลอดจนลำโพงอัจฉริยะ ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ช่วยประจำบ้าน กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะ Alexa ของอเมซอน ซึ่งทำงานผ่านการรับคำสั่งเสียง สามารถให้คำแนะนำและตอบคำถามได้หลากหลาย
ขณะเดียวกัน ความรอบรู้ของอุปกรณ์เหล่านี้ กำลังเริ่มที่จะสร้างความหวาดหวั่น โดยเฉพาะเมื่อมันสามารถฟังคำพูดของคนได้อย่างเข้าใจ แถมยังฉลาด คิดและประมวลผลเองเป็น แต่บางครั้งก็หัวเราะออกมากลางดึก สร้างความขนพองสยองเกล้า จนทำให้เจ้าของบ้านต้องถอดปลั๊ก เพื่อทำให้ Alexa หยุดหัวเราะโดยไม่มีเหตุผล
จึงต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีนั้น มีทั้งแง่มุมที่ดีและไม่ดี ควรเลือกใช้ให้เป็น.
ทีมเศรษฐกิจ