ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. ร่วงครั้งแรกรอบ 4 เดือน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กังวลต้นทุนการผลิต ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ชงรัฐเร่งเบิกจ่ายงบ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ...
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 89.9 จาก 91.0 ในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน จากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยพบว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลางปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สาเหตุจากความกังวลต่อต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างขั้นต่ำที่เตรียมปรับขึ้น รวมทั้งตลาดมีการแข่งขันสูง ประกอบกับในเดือน ก.พ. มีวันทำงานที่น้อยกว่าปกติ รวมทั้งมีวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการส่งออกยังมีความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้กระทบต่อการกำหนดราคาขายสินค้า
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังอยู่ในระดับดี สะท้อนจากดัชนีฯ ยอดรับคำสั่งซื้อ และยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อาหาร ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 101.1 ในเดือน ม.ค.
ด้านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค จากการสำรวจ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือน ม.ค. ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย จากการสำรวจพบว่า กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่า 50% ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.6 ในเดือน ม.ค. องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ 50% ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 101.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.3 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น เป็นต้น
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ ประกอบด้วย การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ, การเจรจากับประเทศที่มีนโยบายกีดกันทางการค้า เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการค้าการลงทุน, การเร่งรัดการจัดทำมาตรฐานสินค้าให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม และการสนับสนุนการขยายตลาดสินค้าอุตสาหกรรมในท้องถิ่นที่ใช้แรงงานฝีมือ เช่น สินค้าหัตถกรรมและเซรามิก.