สินค้าไทย 3,400 รายการสะเทือน สหรัฐฯ ต่ออายุจีเอสพีไม่ทันอีกแล้วส่งผลให้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 61 ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าอัตราปกติ แต่หากกระบวนการต่ออายุสำเร็จ ก็จะคืนภาษีให้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่ได้เสนอโครงการต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ได้หมดอายุลงในวันที่ 31 ธ.ค.2560 ต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ ทำให้สินค้า 3,500 รายการ ที่สหรัฐฯ ให้สิทธิจีเอสพีกับประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงไทยที่ได้รับสิทธิประมาณ 3,400 รายการ จะต้องชำระภาษีนำเข้าตามอัตราปกติ หากนำเข้าผ่านด่านศุลกากรสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นไป และหากโครงการได้ต่ออายุ ศุลกากรสหรัฐฯ จะคืนภาษีที่เรียกเก็บจากผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศที่ได้รับสิทธิ รวมถึงไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) ณ กรุงวอชิงตัน ได้ยื่นหนังสือต่อผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) เพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นของการที่ไทยจะต้องได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการต่ออายุจีเอสพีทั้งโครงการ และการต่ออายุเป็นรายสินค้า ที่คาดจะถูกตัดสิทธิ 3 รายการ ได้แก่ เครื่องซักผ้า เลนส์แว่นตา และอาหารปรุงแต่ง เพราะมูลค่าการส่งออกเกินระดับเพดานที่สหรัฐฯ กำหนด
ทั้งนี้ ทางการไทยได้พยายามอย่างเต็มที่โดยได้ยื่นข้อมูลภาพรวม ทั้งประเทศและรายสินค้าไปหมดแล้ว และผู้ส่งออกอาหารปรุงแต่ง ได้ยื่นเรื่องขอคืนสิทธิต่อยูเอสทีอาร์เช่นกัน แต่ผู้ผลิตเครื่องซักผ้า และเลนส์แว่นตา ยังไม่ได้ยื่นเรื่อง แต่ สพต.ของไทยได้ยื่นเรื่องไปให้แทน โดยเลนส์แว่นตาภาคเอกชนแจ้งว่า ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ จำนวนไม่มาก ส่วนเครื่องซักผ้า ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย และย้ายฐานการลงทุนไปเวียดนามแล้ว เพราะสินค้าถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หากโครงการหมดอายุลงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ และยังไม่ได้รับการพิจารณาการต่ออายุ จะมีผลต่อการจ้างงาน เช่น จีเอสพีที่หมดอายุในปี 2556 แต่ได้ต่ออายุในปี 2558 มีเวลาสุญญากาศเกือบ 2 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว สมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าสหรัฐฯ ระบุ ทำให้ผู้ประกอบการจีเอสพี 40% ชะลอการเพิ่มการจ้างงาน, อีก 22% ไม่เพิ่มการจ้างงานและการลงทุน และอีก 13% ปลดคนงาน ลดชั่วโมงทำงานและลดค่าจ้าง
นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อการเงินของผู้นำเข้า ที่จะต้องชำระภาษีสินค้าที่ได้สิทธิจีเอสพี แต่ไม่ได้รับการต่ออายุ จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียในอัตราต่ำ ทำให้เงินทุนหมุนเวียนใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจไม่คล่องตัว ผู้นำเข้าขนาดย่อมไม่สามารถรับภาระด้านภาษีนำเข้าได้ และต้องเผชิญปัญหาการขาดทุนและต้องเลิกกิจการ นอกจากนี้ ผู้นำเข้าที่นำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตจีเอสพี ซึ่งต้องมาแข่งขันกับสินค้าจีนในสหรัฐฯ จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต และรายได้ของแรงงานในประเทศจีเอสพี ซึ่งเป็นประเทศยากจน หรือค่อนข้างยากจน เนื่องจากผู้นำเข้าสหรัฐฯ ลดปริมาณการนำเข้าสินค้า และสุดท้ายผู้บริโภคสหรัฐฯ ต้องซื้อสินค้าในราคาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้นำเข้าผลักภาระภาษีนำเข้าไปยังผู้บริโภค
สำหรับสหรัฐฯได้เริ่มโครงการให้สิทธิจีเอสพีภายใต้ พ.ร.บ.การค้าปี 2517 ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนากว่า 120 ประเทศ และในปี 2559 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าใต้โครงการจีเอสพีมูลค่า 19,000 ล้านเหรียญฯ.