เอสเอ็มอี มีเฮ! กระทรวงอุตฯ ขยายปล่อยเงินกู้กองทุนประชารัฐ รอบ 2 ถึงสิ้น ธ.ค.นี้ แย้มผุดหลายมาตรการ ส่งเสริมเต็มสูบ เริ่มต้นปี 61 คาดมีผู้ใช้บริการกว่า 5,000 ราย...
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย และมาตรการการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่เปิดโครงการเดือน พ.ค. ถึง ต.ค. 2560 มีการอนุมัติเงินกู้ผ่านทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปแล้วกว่า 1,118 ราย วงเงินกว่า 4,423 ล้านบาท จากจำนวนเอสเอ็มอีที่ยื่นคำขอสินเชื่อมากกว่า 4,000 ราย วงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาหลักเกณฑ์คุณสมบัติของโครงการมีจำนวนหนึ่งที่คุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์การพิจารณา ทำให้ขณะนี้ทางกองทุนฯ ยังมีวงเงินเหลือ ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงมีมติให้ขยายการเปิดรับการยื่นขอสินเชื่อออกไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2560
สำหรับในปี 2561 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในแต่ละจังหวัดแล้ว รวมถึงการออกคูปอง สำหรับใช้บริการด้านต่างๆ อาทิ บริการปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ การใช้บริการ ศูนย์วิเคราะห์ วิจัย และทดสอบผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น โดยมีเป้าหมายให้เอสเอ็มอีใช้บริการ จำนวน 5,000 ราย ในวงเงินทั้งสิ้น 320 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ
นอกจากนี้ กสอ. ยังเตรียมแผนการใช้โมเดลศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ITC) จากส่วนกลางที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับงานบริการไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง นำไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนเอสเอ็มอี ให้เข้มแข็งในระดับภูมิภาคต่อไป ขณะเดียวกัน ได้มีการเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาให้คำปรึกษาแนะนำ เสมือนเป็นพี่เลี้ยง กว่า 20 บริษัท อาทิ SCG ปตท. เด็นโซ่ เดลต้า โตโยต้า ฮอนด้า และ นิสสัน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังมีการเตรียมสร้างกลไกให้เอสเอ็มอี เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มรูปแบบเว็บไซต์ T-Good Tech ขึ้นมา เพื่อนำเอสเอ็มอี แต่ละโครงการของรัฐ จำนวน 5,000 ราย เข้าไปเชื่อมโยงเป็นซัพพลายเชนกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยล่าสุดกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือ METI ได้มอบหมายให้องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ SMRJ ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประจำที่ไทย เพื่อช่วยจัดทำแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงเอสเอ็มอีของไทยกับไทย และในอนาคตจะเชื่อมไทยไปยังผู้ประกอบการของญี่ปุ่น รวมถึงเชื่อมไทยไปยัง กลุ่ม AEC อีกด้วย
ด้าน นายบุ่นเอี้ยน ศรีแสนสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บจก.ศรีทรัพย์ ขนส่ง หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้ยื่นขอกู้ จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อหัวรถลากคอนเทนเนอร์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีระบบ GPS กล่าวว่า ได้ทราบข่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรม มีกองทุนดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% จึงกู้ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวนเงิน 10 ล้านบาท ทำให้ได้เปลี่ยนรถรุ่นใหม่ที่ประหยัดเชื้อเพลิง ช่วยลดต้นทุน และมีระบบ GPS สามารถตรวจสอบพฤติกรรมคนขับรถว่ามีความประมาทหรือไม่ เพื่อลดอุบัติเหตุ
ขณะที่ นางกิตติมา ทองเกตุ รองกรรมการผู้จัดการ บจก. ด.เด็ก กินผัก ที่นอกจากจะได้รับเงินส่งเสริมในการทำธุรกิจแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกหลายด้าน โดยได้รับคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ จนทำให้บริษัทได้รับรองมาตรฐานทั้ง GMP HACCP หรือล่าสุด ได้เข้าโครงการ Future Food เพื่อขยายตลาด โดยการทำ Digital Marketing ซึ่งมีประโยชน์มากกับผู้ประกอบการ.