ไทย-ออสเตรเลีย ส่อได้ข้อยุติน่าพอใจทั้ง 2 ฝ่าย เตรียมชง ”ครม.” ไฟเขียวแนวทางชดเชยความเสียหายปิด ”เหมืองทองอัครา” เร็วๆ นี้ ลั่นถ้าตกลงกันไม่ได้ ฟ้องรัฐบาลไทยแน่ ละเมิดความตกลงเอฟทีเอ...
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ขณะนี้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ของออสเตรเลีย อยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลไทย ภายหลังจากได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายทางธุรกิจมูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 30,000 ล้านบาท จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตร และใบอนุญาตทุกประเภท ยุติการทำเหมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 60 เป็นต้นมา และให้เร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม มีผลให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งมีบริษัท คิงส์เกต เป็นผู้ร่วมทุนใหญ่ หยุดทำเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก เพราะเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำรายเดียวที่ยังดำเนินการอยู่
สำหรับการเจรจาครั้งนี้ มีความพยายามที่จะให้ได้ข้อยุติ เป็นที่น่าพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะหากไม่สามารถตกลงกันได้ บริษัทอาจฟ้องร้องรัฐบาลไทย ภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ออสเตรเลีย ในด้านการคุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนของประเทศหนึ่ง สามารถฟ้องร้อง และเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลอีกประเทศหนึ่งได้ หากดำเนินนโยบายให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุน เช่น ยึดทรัพย์สิน ยึดการลงทุน หรือเวนคืนที่ดิน ซึ่งการฟ้องร้องภายใต้เอฟทีเอนี้ มาตรา 44 ไม่มีอำนาจครอบคลุมไปถึง และในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ จะเสนอให้เห็นชอบแนวทางชดเชยความเสียหายให้บริษัทด้วย
ทั้งนี้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะมีเรื่องร้องเรียน และข้อขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ว่าเหมืองทองคำก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน แม้ในช่วงออกคำสั่ง ยังไม่พิสูจน์ชัดเจนว่า เกิดผลกระทบจริงหรือไม่ ซึ่งหากออสเตรเลียจะฟ้องร้องจริง รัฐบาลไทยอาจแพ้ เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ผลกระทบที่ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท อัครา ทำหนังสือแจ้งสื่อมวลชนกรณีบริษัท คิงส์เกต ผู้ถือหุ้นใหญ่ ระบุว่า ไทยละเมิดข้อตกลงด้านการคุ้มครองการลงทุน ภายใต้เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย และต้องการเจรจากับรัฐบาลไทย แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ บริษัท อัครา จึงทำหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยว่า จำเป็นต้องดำเนินการตามสิทธิด้านการคุ้มครองการลงทุน ส่งผลให้รัฐบาลไทยตั้งคณะกรรมการเพื่อไกล่เกลี่ย และล่าสุดอยู่ระหว่างการหาแนวทางเยียวยา.